รังวัดที่ดินคืออะไร สำคัญอย่างไร มีขั้นตอนและค่าใช้จ่ายส่วนไหนบ้าง
สำหรับใครที่มีที่ดินเปล่าไม่ได้ใช้งานเป็นเวลานาน จดจำตำแหน่ง ขอบเขตของที่ดินไม่ได้หรือทำหมุดหาย มีความกังวลว่าควรทำอย่างไรดี เพราะยังไม่เคยมีประสบการณ์ทางด้านนี้ วันนี้ สาระอสังหา มีวิธีการยื่นคำร้องขอรังวัดที่ดินต่อกรมที่ดินมาฝาก เพื่อตรวจสอบพื้นที่ของตนเอง และยังเป็นวิธีที่ทำให้ทราบได้อีกว่าพื้นที่ข้างเคียงใช้ที่ดินรุกล้ำเข้ามายังพื้นที่ของเราหรือไม่ โดยจะมีการวัดขนาดความยาว ความกว้างตามเนื้อที่โฉนด แต่จะมีรายละเอียดอะไรที่ควรทราบและทำความเข้าใจก่อนบ้างนั้นมาดูกัน
การรังวัดที่ดิน คืออะไรมีความสำคัญอย่างไร?
การรังวัดที่ดิน คือ การรังวัดปักหลักเขตเพื่อหาแนวเขตและเนื้อที่ทั้งหมดของที่ดิน ซึ่งการรังวัดจะเป็นวิธีที่ใช้เทคนิคการจด หรือคำนวณอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการรังวัดปักหลักเขต การทำเขต การใช้เครื่องมือในการรังวัด การรังวัดเพื่อให้ทราบที่ตั้งของที่ดิน การรังวัดหาแนวเขตและเนื้อที่ของที่ดิน ทั้งนี้ก็จะมีความเกี่ยวข้องกับที่ดินแปลงข้าง ๆ ซึ่งเมื่อรังวัดสำเร็จแล้ว เจ้าหน้าที่จะทำการแจ้งให้กับเจ้าของที่ดินแปลงข้าง ๆ ได้ทราบ ซึ่งสามารถคัดค้านได้ทันทีเมื่อผลการรังวัดไม่เป็นไปตามโฉนด โดยจะมีการดำเนินการทางกฎหมายต่อไป แต่ถ้าหากเจรจาไกล่เกลี่ยไม่ได้ผล สามารถดำเนินการฟ้องร้องได้ (ภายใน 90 วัน)
เหตุผลส่วนใหญ่ในการยื่นคำร้องขอรังวัดที่ดิน?
1.หาแนวเขตที่ดินไม่เจอ, ไม่ทราบแนวเขตที่ดิน ยื่นเรื่องขอรังวัดที่ดิน ทราบหลักหมุดและขอบเขต
2.ต้องการแบ่งแปลงที่ดินเพื่อขาย (หากแบ่งมากกว่า 9 แปลง ต้องตรวจสอบเรื่องพ.ร.บ.จัดสรรที่ดินควบคู่ไป เพื่อให้ทราบจำนวนค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมและข้อกำหนดอื่น) หรือต้องการรวมโฉนดที่ดิน เช่น การซื้อที่ดินแปลงข้าง ๆ (ต้องเป็นที่ดินแปลงที่ติดกันเท่านั้น และต้องเป็นที่ดินสถานะเดียวกัน เช่น นส.4 กับ นส.4)
3.การเกิดข้อพิพาทกับที่ดินแปลงข้าง ๆ เช่น การรุกล้ำที่ดินของกันและกัน
4.เพื่อประกอบการซื้อขาย เพราะถ้าหากไม่ทำการรังวัดอาจทำให้ถูกหลอกได้ เช่น ที่ดินน้อยกว่าตามที่ระบุไว้ในโฉนด
5.การเปลี่ยนสถานะเอกสารสิทธิในที่ดิน
การร้องขอรังวัดที่ดินสามารถแบ่งออกได้ 3 ประเภท ดังนี้
1.การรังวัดแบ่งแยก กรณีที่มีการแยกแปลงที่ดินเพื่อขาย หรือแบ่งให้ลูก หลาน
2.การรังวัดรวมโฉนด (รวมโฉนดที่ดินเป็นใบเดียว)
3.การรังวัดสอบเขตที่ดิน กรณีที่หาหลักหมุดไม่เจอ
ก่อนทำการรังวัดที่ดินมีอะไรที่ควรทราบก่อนบ้าง?
1.ที่ดินที่ครอบครองอยู่มีหลักฐานอะไร สามารถนำหลักฐานที่มียื่นคำร้องของรังวัดที่ดินได้
2.รู้ว่าที่ดินตั้งอยู่ที่ไหน ตำแหน่งไหน เพราะเจ้าหน้าที่จะมีการสอบถามเบื้องต้นก่อน
3.ที่ดินแปลงข้างเคียงเป็นของใคร ติดถนนสาธารณะไหม เพราะเจ้าหน้าที่ต้องทำการส่งจดหมายให้เจ้าของที่ดินแปลงข้าง ๆ รับทราบและเดินทางมาดูการรังวัดด้วย
4.สภาพที่ดินเป็นอย่างไร เป็นที่ดินเปล่า ที่นา ที่สวน หรือที่อยู่อาศัย
หลักฐานที่ต้องใช้ในการขอยื่นคำร้องขอรังวัดที่ดิน
1.เอกสารเกี่ยวกับที่ดิน เช่น โฉนดที่ดิน, น.ส.,น.ส.3 ก.
2.เอกสารระบุตัวตน เช่น สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ทะเบียนสมรส ใบเปลี่ยนชื่อ-นาสมสกุล (ถ้ามี)
3.ในกรณีที่ต้องการแบ่งแยกหรือรวมโฉนด ควรมีเอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับการแบ่งแยกหรือรวมโฉนดที่ดิน เช่น รูปแปลงเบื้องต้นที่ต้องการทำการแบ่งแยก / โฉนดที่ดินข้าง ๆ ที่ต้องการรวมโฉนด
ขั้นตอนการยื่นคำร้องขอรังวัดที่ดิน ณ สำนักงานที่ดิน
อันดับแรกต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบถึงเหตุผลในการรังวัดที่ดิน ซึ่งต้องแจ้งประเภทการรังวัดให้ทราบตามข้อมูลข้างต้นที่ได้กล่าวไป แต่ถ้าหากยังไม่มั่นใจสามารถกดบัตรคิวเพื่อรอปรึกษากับเจ้าหน้าที่ และเมื่อถึงคิวก็ทำการอธิบายให้กับเจ้าหน้าที่ พร้อมยื่นเอกสารที่มีการเซ็นสำเนาชื่อเรียบร้อยมอบให้ตามขั้นตอน หลังจากนั้นจึงเดินเรื่องส่งต่อให้เราได้พบกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายรังวัดเพื่อคำนวณค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตรวจสอบ สอบถามเกี่ยวกับที่ดิน และสุดท้ายจะส่งมอบใบนัดรังวัดที่ดิน จากนี้ก็ชำระเงินแล้วรอรังวัดตามใบนัด (ระบุค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่าบ รายชื่อช่าง วัน-เวลา) จึงถือว่าเสร็จสิ้นขั้นตอนทั้งหมด
กฎหมายควรรู้ “โทษของการเคลื่อนย้ายหรือทำลายหลักหมุด” โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน
เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินทำหมุดหลักฐานเพื่อบันทึกแผนที่ไว้แล้ว ห้ามให้ใครทำลาย ดัดแปลง เคลื่อนย้าย ถอดถอนอาเขตหรือหลักหมุดออกไปจากแผนที่เดิม เว้นแต่จะได้รับอนุญาต หากใครฝ่าฝืนมีโทษตามมาตรา 109 ระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ในกรณีที่ดินทำการเกษตรจนหมุดพัง ต้องรีบแจ้งทางเจ้าพนักงานทันที
การรังวัดที่ดินถือเป็นขั้นตอนการพิสูจน์สิทธิบนที่ดินของตนเองได้อย่างชัดเจน ป้องกันการใช้ที่รุกล้ำระหว่างที่ดินแปลงข้าง ๆ อีกทั้งยังสามารถทราบขอบเขตเพื่อแบ่งขายได้อีกด้วย ดังนั้น ใครที่คิดปล่อยปละละเลย ทิ้งที่ดินร้างไว้เป็นเวลานาน อาจส่งผลให้เสียเปรียบให้กับที่ดินผืนข้าง ๆ แล้วยังต้องเสียภาษีสำหรับพื้นที่ว่างเปล่าไม่มีการใช้งานด้วย ในปีนี้ใครกำลังเริ่มแผนทำประโยชน์จากที่ดินหลังทำการรังวัดเสร็จ สามารถตรวจสอบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปี 2565 ได้ที่นี่