top

กฎหมาย

กฎหมาย รายการลดหย่อนภาษี 2566 มีอะไรบ้าง เตรียมความพร้อมก่อนยื่นแบบ
รายการลดหย่อนภาษี 2566

ใกล้หมดปีแบบนี้ สาระอสังหา ทำลีสต์รายการลดหย่อนภาษี 2566 เพื่อให้ทั้งมือใหม่และผู้ที่มีรายได้เกิน 120,000 บาทต่อปี ผู้มีหน้าที่ต้องยื่น “ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” ได้ทราบ แต่หากขาดความเข้าใจในการใช้สิทธิเพื่อขอลดหย่อนภาษีที่ดี ก็อาจทำให้การวางแผนการลดหย่อนภาษีขาดประสิทธิภาพได้ เริ่มวางแผนง่าย ๆ ด้วยการดูประเภทสิทธิที่สามารถขอลดหย่อนได้ เพราะการได้สิทธิลดหน่อยภาษีจะทำให้เราเสียภาษีถูกลง

รวมรายการลดหย่อนภาษี 2566

ส่วนตัวและครอบครัว

ลดหย่อนภาษี 2566 ส่วนตัวและครอบครัว

  1. ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
  2. ค่าลดหย่อนคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย 60,000 บาท
  3. ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตรที่สถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชน ลดหย่อนได้ไม่เกิน 60,000 บาทต่อปี (สามีสามารถลดหย่อนภาษีในกรณีที่ภรรยาไม่มีเงินได้)
  4. ค่าลดหย่อนภาษีบุตร คนละ 30,000 บาท ซึ่งต้องเป็นบุตรตามกฎหมายหรือบุตรบุญธรรม
  5. ค่าลดหย่อนบุตรคนที่ 2 เป็นต้นไป เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป สามารถลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท
  6. ค่าลดหย่อนสำหรับเลี้ยงดูบิดามารดา 30,000 บาท กรณีเสียชีวิตระหว่างปีนั้น ๆ ยังสามารถขอลดหย่อนได้
  7. ค่าอุปการะผู้พิการหรือทุพลภาพ 60,000 บาท

กลุ่มประกัน เงินออม และการลงทุน

  1. เบี้ยประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์ ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี
  2. เบี้ยประกันสุขภาพ/ประกันอุบัติเหตุที่คุ้มครองสุขภาพ ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 25,000 บาทต่อปี
  3. ประกันสังคม สามารถลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 9,000 บาท
  4. เบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดา ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท (บิดามารดาไม่จำเป็นต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป แต่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี)

หมายเหตุ : สำหรับกลุ่มค่าลดหย่อนประกันชีวิตและการออม เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท

ลดหย่อนภาษี 2566 กลุ่มประกัน เงินออม ลงทุน

  1. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF : Retirement Mutual Fund) ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี
  2. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) / กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.) / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน นำมาลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ ตามจำนวนที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี
  3. เบี้ยประกันชีวิตบำนาญ ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี ซึ่งมีเงื่อนไขของค่าลดหย่อนประกันชีวิต คือ ต้องมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป และทำประกันกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย มีการจ่ายผลประโยชน์เป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอ
  4. กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 13,200 บาทต่อปี
  5. กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF : Super Saving Funds) กองทุนเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว นำมาลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี โดยให้สิทธิประโยชน์สำหรับลดหย่อนภาษี 5 ปี

หมายเหตุ : สำหรับกลุ่มค่าลดหย่อนประกันชีวิตและการลงทุนในการวางแผนเกษียณ เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท

กลุ่มอสังหาริมทรัพย์/กระตุ้นเศรษฐกิจ

ลดหย่อนภาษี 2566 กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กระตุ้นเศรษฐกิจ

  1. ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย สามารถนำไปลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี
  2. โครงการช้อปดีมีคืน 2565 สามารถนำไปลดหย่อนได้ไม่เกิน 30,000 บาท สำหรับการซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 65 – 15 ก.พ. 66 ได้แก่ สินค้าและบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สินค้า OTOP สินค้าหมวดหนังสือ (รวมถึง E-Book)
  3. เงินลงทุนวิสาหกิจเพื่อสังคม สามารถนำไปลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี

กลุ่มเงินบริจาค

ลดหย่อนภาษี 2566 กลุ่มเงินบริจาค

  1. เงินบริจาคให้กับพรรคการเมือง นำมาลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท ซึ่งมาจากมาตรา 70 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 กำหนดไว้ว่า ผู้บริจาคเงินให้แก่พรรคการเมืองสามารถนำจำนวนเงินบริจาคไปหักเป็นค่าลดหย่อนภาษีหรือรายจ่ายเพื่อการบริจาคตามที่กำหนดในประมวลรัษฎากร
  2. เงินบริจาคเพื่อการศึกษา สถานพยาบาลของรัฐ การกีฬา พัฒนาสังคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ สามารถนำมาลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินบริจาคจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อนภาษี
  3. เงินบริจาคทั่วไป ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อนภาษี

 

ตามกลุ่มประเภทของรายการลดหย่อนภาษี 2566 ที่สาระอสังหาได้รวบรวมให้ สามารถนำมาวางแผนการจ่ายภาษีเพื่อเป็นการวางแผนทางการเงิน การใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน การออมเพื่ออนาคต และการซื้อที่อยู่อาศัย ดังนั้น หากทราบข้อมูลเกี่ยวกับการลดหย่อนภาษีมากเท่าไร ก็ยิ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้มีรายได้/ผู้ต้องเสียภาษี อ่านบทความภาษีน่ารู้ที่นี่!

หมวดหมู่