top

รอบรู้เรื่องอสังหาฯ

รอบรู้เรื่องอสังหาฯ รอบรู้เรื่องที่ดิน ตัวอย่างการเขียนหนังสือมอบอำนาจที่ดินและวิธีใช้งานให้ชอบตามกฎหมาย
หนังสือมอบอำนาจกรมที่ดิน 3 แบบ พร้อมตัวอย่างการเขียนที่ถูกต้อง

ถ้าหากตัวเราไม่ว่างหรือไม่สะดวกเดินทางไปทำธุรกรรม ณ สำนักงานที่ดิน การจำนำ- การจำนองที่ดิน การรังวัดที่ดิน ขายฝากที่ดิน ฯลฯ อยากให้ผู้อื่นดำเนินเรื่องแทนสามารถทำได้หรือไม่ สาระอสังหา อธิบายความหมายหนังสือมอบอำนาจที่ดิน วิธีการเขียนและการปิดอากรแสตมป์ที่ถูกต้อง พร้อมให้ดาวน์โหลดฟอร์มนำไปใช้งานฟรี

หนังสือมอบอำนาจคืออะไร

คือ เอกสารมอบสิทธิอำนาจในการกระทำธุรกรรมต่าง ๆ แทนผู้ต้องการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ซึ่งไม่สามารถเดินทางไปยังสำนักงานที่ดินได้ด้วยตนเอง ทางกฎหมายจึงเล็งเห็นปัญหานี้ และหาวิธีอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ด้วยการยอมให้เจ้าของกรรมสิทธิ์ ผู้ประสงค์ทำธุรกรรมสามารถมอบหมายอำนาจ หน้าที่นี้ ให้กับผู้ที่เชื่อถือหรือไว้ใจได้ไปกระทำการต่าง ๆ นั้นแทนตน โดยต้องออกเป็นหนังสือมอบอำนาจไปด้วย

หนังสือมอบอำนาจที่ดิน แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่

  1. หนังสือมอบอำนาจโฉนด (ท.ด.21) เช่น ทรัพย์เป็นประเภทโฉนดที่ดินน.ส.4
  2. หนังสือมอบอำนาจ น.ส.3 น.ส.3ก (ท.อ.4)
  3. หนังสือมอบอำนาจ อาคารชุด (อ.ช.21)

ดาวน์โหลดหนังสือมอบอำนาจจากกรมที่ดิน

ดาวน์โหลดหนังสือมอบอำนาจโฉนด (ท.ด.21) คลิก

ดาวน์โหลดหนังสือมอบอำนาจ น.ส.3 น.ส.3ก (ท.อ.4) คลิก

หนังสือมอบอำนาจห้องชุด (อ.ช.21) คลิก

ตัวอย่างการกรอกหนังสือมอบอำนาจให้ขายที่ดิน

ตัวอย่างหนังสือมอบอำนาจ

การติดอาการแสตมป์หนังสือมอบอำนาจ

  • กระทำการครั้งเดียว ปิดอากรแสตมป์ 10 บาท
  • กระทำการหลายครั้ง ปิดอากรแสตมป์ 30 บาท

หมายเหตุ : ในการทำธุรกรรม หากไม่ทราบว่าต้องปิดอากรแสตมป์กี่บาท สามารถปิด 30 บาทได้

ผู้รับมอบอำนาจต้องนำเอกสารอะไรไปที่สำนักงานที่ดินบ้าง?

  1. โฉนดที่ดินหรือเอกสารสิทธิ์ต่าง ๆ (น.ส.3, น.ส.3ก, น.ส.4, อ.ช.2)
  2. หนังสือมอบอำนาจที่กรอกรายละเอียดครบถ้วนสมบูรณ์ พร้อมปิดอากรแสตมป์
  3. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ของผู้มอบอำนาจ ผู้รับมอบอำนาจ พยาน

คำแนะนำสำหรับการใช้หนังสือมอบอำนาจที่ดิน

  1. ผู้มอบอำนาจต้องพิจารณาเรื่องผู้รับมอบอำนาจ ควรเป็นผู้ที่ไว้วางใจได้ เช่น ญาติ พ่อแม่ พี่น้องที่ใกล้ชิดกัน
  2. มีพยานอย่างน้อย 1 คน ส่วนกรณีที่ไม่สามารถพิมพ์ลายนิ้วมือได้ต้องใช้พยาน 2 คน พร้อมกับบันทึกความยินยอม
  3. สำหรับกรณีที่ผู้มอบอำนาจมีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป หากต้องการความเชื่อมั่นว่ามีสติสัมปชัญญะดีหรือไม่ ควรให้ผู้ปกครองท้องถิ่นที่เชื่อถือได้รับรองก่อน

ข้อควรระวังการมอบอำนาจที่ดิน

  1. กรอกเครื่องหมายหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ เช่น ตึก บ้าน เรือน ให้ชัดเจน
  2. ระบุจุดประสงค์และอำนาจการจัดการให้ชัดเจน เช่น การจะซื้อจะขาย การจำนอง การขายฝาก หากมีเงื่อนไขพิเศษเพิ่มเติมควรระบุให้ชัดเจนเช่นกัน
  3. ไม่ควรกรอกข้อความลายมือหรือน้ำหมึกที่ไม่เหมือนกัน ไม่ตรงกัน ส่วนกรณีที่ใช้คอมพิวเตอร์ก็ควรใช้ฟร้อนท์เดียวกันและเครื่องพิมพ์เครื่องเดียวกัน
  4. หากเกิดรอยขีด ลบ ให้ระบุว่าแต่งเติม ขีดฆ่ากี่คำ และให้ผู้มอบอำนาจเขียนกำกับไว้ทุกที่
  5. ไม่ควรลงลายมือชื่อก่อนกรอกข้อความทั้งหมดในการมอบอำนาจ
  6. พยานต้องมีอย่างน้อย 1 คน แต่หากผู้มอบอำนาจพิมพ์รายมือชื่อ จำเป็นต้องมีพยานอย่างน้อย 2 คน โดยใช้วิธีเซ็นมอบอำนาจด้วยลายนิ้วมือเท่านั้น
  7. หนังสือมอบอำนาจที่ทำในต่างประเทศต้องให้สถานฑูต สถานกงสุลหรือ NOTARYPUBLIC เซ็นรับรอง

เมื่อได้ทราบวิธีใช้งาน ข้อแนะนำ ข้อควรระวัง จะเห็นว่าการเขียนหนังสือมอบอำนาจที่ดินก็ไม่ได้ยุ่งยากมากเกินความสามารถ เพียงแต่ต้องเตรียมเอกสาร เตรียมตัวให้ดี อ่านทบทวนรายละเอียดต่าง ๆ ก่อนมอบอำนาจให้ผู้อื่นทำธุรกรรมแทน ที่สำคัญเลย ในกรณีไม่ได้ติดธุระใด ๆ ควรเดินทางมาทำธุรกรรมด้วยตนเอง เพราะการดำเนินการต่าง ๆ ในเรื่องของทรัพย์ถือว่ามีมูลค่าสูง หากเกิดความผิดพลาดหรือถูกฉ้อโกงขึ้นมาอาจไม่คุ้มค่าเท่าไหร่

About author

เป็นนักการตลาดออนไลน์ เสพติดข่าวสาร กฎหมาย สังคม เศรษฐกิจโลกและแวดวงอสังหาฯ เชื่อว่าเรื่องราวที่ได้รู้มีบทเรียนชีวิตแฝงอยู่ให้เราเสมอ

หมวดหมู่