top

รอบรู้เรื่องอสังหาฯ

รอบรู้เรื่องอสังหาฯ รอบรู้เรื่องบ้าน 4 ข้อที่ต้องระบุ เมื่อทำสัญญาเช่าบ้าน พร้อมดาวน์โหลดแบบฟอร์มฟรี
ดาวน์โหลดสัญญาเช่าบ้าน

หากคุณเป็นหนึ่งคนที่คิดอยากสร้างรายรับเพิ่มจากจำนวนเงินเดือนที่ยังคงที่ ไม่รู้จะลงทุนอะไรดี แต่มีบ้านว่างอยากลงทุนอสังหา เริ่มยังไง สาระอสังหา อธิบายถึงสัญญาการเช่าอสังหาฯ และรายละเอียดสำคัญที่จำเป็นต้องระบุลงในสัญญาเพื่อรักษาสิทธิ์อย่างเป็นธรรมให้กับทั้งสองฝ่าย นั่นคือ ผู้เช่าและผู้ให้เช่า

ดังนั้นแล้ว เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาหรือช่องว่างทางกฎหมายในภายหลังแล้ว การทำสัญญาเช่าบ้านให้ดี ก่อนตัดสินใจปล่อยเช่าด้วยตัวเอง ต้องไม่ลืมที่จะศึกษาในเรื่องของกฎหมายกันอย่างรอบคอบ ตั้งราคาเช่าให้สอดคล้องกับทำเลและพื้นที่

สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ สัญญาเช่าที่ดิน บ้าน คอนโดฯ คืออะไร

สัญญาเช่า เป็นสัญญาลักษณะต่างตอบแทน หมายความว่า คู่สัญญาทั้งสองฝ่าย “ผู้เช่า” และ “ผู้ให้เช่า” มีความสัมพันธ์กันในลักษณะที่ต่างฝ่ายต่างยึดถือกันเพื่อจุดประสงค์ของตนเอง กล่าวคือ ผู้เช่าต้องจ่ายค่าเช่าเป็นการตอบแทนกับผู้ให้เช่า เพื่อได้พักอาศัยหรือใช้พื้นที่ที่ตนได้ระบุลงในสัญญา ส่วนผู้ให้เช่าเองก็ต้องให้สิทธิ์แก่ผู้เช่าในการครอบครองหรือทำประโยชน์ตามรายละเอียด ระยะเวลา และข้อกำหนดที่ได้ระบุลงในสัญญาเช่าบ้าน สัญญาเช่าที่ดิน หรือเช่าทรัพย์อื่นๆ

โดยเนื้อหาต้องระบุลงในสัญญาให้ชัดเจนว่าเป็นสัญญาการเช่าทรัพย์ประเภทใด รวมทั้งระบุตำแหน่งที่ตั้ง รายละเอียดที่ดิน บ้าน ห้องต่าง ๆ เฟอร์นิเจอร์ให้ชัดเจน ผู้ให้เช่าคือใคร และผู้เช่าคือใคร ทำสัญญาที่ไหน ระยะเวลาการเช่าอยู่ และจำนวนเงินค่าเช่าในแต่ละงวดเป็นจำนวนเท่าไหร่ เป็นต้น

สัญญาเช่าบ้านที่ดีต้องมีการระบุข้อมูลดังต่อไปนี้

1.รายละเอียดของบ้าน
บ้านเลขที่ ห้องเลขที่ ชั้น อาคาร จำนวนชั้นของอาคาร ชื่อโครงการ-คอนโดมิเนียม พร้อมระบุรายการเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้าน (เขียนอย่างละเอียด) และเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาถกเถียงเรื่องความเสียหายของเฟอร์นิเจอร์ ผู้ให้เช่าหรือนายหน้าควรถ่ายภาพทุกห้องทุกมุมเพื่อใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงหลังหมดสัญญาเช่า

2.รายละเอียดของผู้เช่าและผู้ให้เช่า พร้อมพยานจากทั้งสองฝ่าย
ชื่อ-นามสกุล อายุ ที่อยู่ และกรอกข้อมูลเลขบัตรประชาชนให้ถูกต้อง พร้อมใช้สำเนาบัตรประชาชนของทั้งสองฝ่าย สถานที่ทำสัญญา วัน/เดือน/ปี ที่ทำสัญญา

3.รายละเอียดและเงื่อนไขตลอดระยะเวลาการเช่าบ้าน
ระบุระยะเวลาเช่า (ส่วนใหญ่ใช้ระยะเวลา 1 ปีเพื่อต่อสัญญาใหม่ในครั้งถัดไป) อัตราค่าเช่าเป็นจำนวนเท่าไหร่ต่อเดือน ซึ่งหากมีค่าส่วนกลางต้องแจ้งให้ชัดเจน ไม่ลืมระบุค่าน้ำ/ค่าไฟ (ต่อหน่วย) กำหนดชำระค่าเช่า ชำระทุกวันที่เท่าไหร่ ช้าสุดไม่เกินวันไหน ระบุค่ามัดจำ / ค่าเช่าล่วงหน้า พร้อมอธิบายรายจ่ายที่ให้ผู้เช่าต้องจ่าย หรือรายจ่ายส่วนไหนที่ผู้ให้เช่าต้องรับผิดชอบ เช่น ค่าส่วนกลาง ค่าขยะ ค่าภาษีโรงเรือน และสุดท้ายไม่ลืมกำหนดกฎระเบียบการอยู่อาศัยร่วมกัน เช่น การส่งเสียงดังรบกวน

4. รายละเอียดการปรับ/ค่าปรับ
เมื่อไหร่ก็ตามที่ผู้เช่าจ่ายค่าเช่าล่าช้าเกินกว่าวัน เวลา ที่กำหนด หรือไม่จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าส่วนกลางตามที่ตกลงกันไว้ จะมีการปรับเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ (ปรับตามวันหรือเดือน) เงื่อนไขการชดใช้ค่าเสียหายในกรณีเฟอร์นิเจอร์พัง

ทั้งนี้ต้องมีการเซ็นสัญญาร่วมกันระหว่างผู้เช่าและผู้ให้เช่า พร้อมลายมือชื่อจากพยานของทั้งสองฝ่าย โดยไม่ลืมปิดอาการแสตมป์ 1 บาท ของเงินค่าเช่าหรือเงินกินเปล่าทั้งสองอย่างรวมกัน ทุก ๆ 1,000 บาท หรือเศษของ 1,000 บาท เช่น สัญาเช่ามีมูลค่าตีตราค่าเช่าประมาณเท่าไหร่ต่อปี (ส่วนใหญ่ปิดอากรแสตมป์ 10 บาท) เพื่อให้สัญญาสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น

การทำสัญญาเช่าบ้านบางกรณี ผู้ให้เช่าอาจมีการขอค้ำประกันค่าเช่า (ผู้ค้ำจ่ายเงินแทนในกรณีที่ผู้เช่าไม่จ่ายค่าเช่า) แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยใช้วิธีการค้ำประกัน เนื่องจากมีค่าเช่าที่ได้มัดจำล่วงหน้าไว้ ถ้าหากผู้เช่าย้ายข้าวของ หนีหาย ไม่ยอมจ่ายค่าเช่า อย่างน้อยผู้ให้เช่ายังมีเงินมัดจำส่วนนี้ทำการยกเลิกสัญญา อันเกิดจากการละเมิดสัญญาของผู้เช่า

ดาวน์โหลดหนังสือสัญญาเช่าบ้าน อาคาร คอนโดฯ

หนังสือสัญญาเช่าบ้าน

หนังสือสัญญาเช่าบ้านและคอนโดฯ : คลิก

ไม่ว่าจะเป็นสัญญาเช่าทรัพย์ประเภทใดก็ตามแต่ มักมีผลบังคับใช้และครอบคลุมในทางกฎหมายก็ต่อเมื่อทั้งสองฝ่าย ผู้เช่าและผู้ให้เช่าได้ตกลง อ่านเนื้อหาสัญญา มีความเข้าใจตรงกัน พร้อมลงลายมือชื่อกำกับชัดเจน (รวมพยานทั้งสองฝ่าย) แต่ในทางกลับกัน หากมีการเปลี่ยนแปลงสัญญาโดยพลการจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งอีกฝ่ายไม่ได้มีส่วนรับทราบหรือรู้เห็นจะถือเป็นโมฆะ ไม่สามารถนำไปใช้อ้างอิงในทางกฎหมายได้

อีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญเมื่อเจ้าของทรัพย์ต้องรับหน้าที่หาผู้เช่าเองในกรณีไม่ได้จ้างผ่านนายหน้า ไม่ว่าจะมีความผูกพันธ์กับบ้านหรือห่วงข้าวของ เฟอร์นิเจอร์เสียหายอย่างไร ให้ลองคิดในมุมมองที่เราเป็นผู้เช่า กฎและข้อกำหนดในการเช่าที่เยอะมากเกินไปจนอึดอัดหรือลำบากใจ จากที่ควรได้รายรับเพิ่มจากการลงทุนปล่อยเช่า อาจทำให้ผู้เช่าเปลี่ยนใจย้ายออกไปก่อนได้ ดังนั้น การตั้งกฎการอยู่ร่วมกัน การตั้งราคา ก็ควรอยู่ในเกณฑ์ที่พอดีไม่มากหรือน้อยไปนั่นเอง

About author

เป็นนักการตลาดออนไลน์ เสพติดข่าวสาร กฎหมาย สังคม เศรษฐกิจโลกและแวดวงอสังหาฯ เชื่อว่าเรื่องราวที่ได้รู้มีบทเรียนชีวิตแฝงอยู่ให้เราเสมอ

หมวดหมู่