top

รอบรู้เรื่องอสังหาฯ

รอบรู้เรื่องอสังหาฯ รอบรู้เรื่องคอนโด 6 เรื่องสำคัญการเขียนสัญญาเช่าคอนโดให้รัดกุม ดาวน์โหลดฟอร์มฟรี!
ดาวน์โหลดสัญญาเช่าคอนโด

สถานการณ์การปล่อยเช่าคอนโดมิเนียมไป แล้วไม่สามารถเก็บค่าเช่าได้ หรือผู้เช่าไม่ยอมจ่ายค่าเช่า ถือเป็นเรื่องอันตรายในการปล่อยเช่ามาก ๆ ไม่ว่าจะติดตามด้วยการทวงถาม หรือเรียกเก็บค่าปรับตามสัญญาเช่าคอนโดที่เขียนไว้ก็ตามแต่ กลับไม่มีสัญญาณตอบรับจากผู้เช่า ในฐานะที่เป็นผู้ให้เช่าควรทำอย่างไร ปรับไปก็ไม่ได้เงิน แจ้งความดีหรือไม่ อ่านบทความเพื่อทำความเข้าใจ แล้วเขียนสัญญาเช่าให้รัดกุมครอบคลุม เป็นธรรมทั้งในส่วนผู้เช่าและผู้ให้เช่า

สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน บ้าน คอนโดฯ คืออะไร

สัญญาเช่า เป็นสัญญาลักษณะต่างตอบแทนระหว่าง “ผู้เช่า” และ “ผู้ให้เช่า” มีความสัมพันธ์กันในลักษณะที่ต่างฝ่ายต่างยึดถือกันเพื่อจุดประสงค์ของตนเอง คือ ผู้เช่าจะต้องจ่ายค่าเช่าเป็นการตอบแทนกับผู้ให้เช่า เพื่อได้พักอาศัยหรือใช้พื้นที่ที่ตนได้ระบุลงในสัญญา ส่วนผู้ให้เช่าเองก็ต้องให้สิทธิแก่ผู้เช่าในการครอบครองหรือทำประโยชน์ตามรายละเอียด ระยะเวลา และข้อกำหนดที่ได้ระบุลงในสัญญาเช่าบ้าน สัญญาเช่าที่ดิน หรือเช่าทรัพย์อื่นๆ

โดยเนื้อหาที่ต้องระบุลงในสัญญาให้ชัดเจนว่าเป็นสัญญาการเช่าทรัพย์ประเภทใด ระบุตำแหน่งที่ตั้ง รายละเอียดที่ดิน บ้าน ห้องต่าง ๆ เฟอร์นิเจอร์ให้ชัดเจน รวมถึงระบุข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไปว่าผู้ให้เช่าคือใคร ผู้เช่าเป็นเป็นใคร ทำสัญญาที่ไหน ระยะเวลาการเช่าอยู่ และจำนวนเงินค่าเช่าในแต่ละงวดเป็นจำนวนเท่าไร เป็นต้น

เนื้อหาสำคัญที่ควรระบุบนสัญญาเช่าคอนโด

  1. ข้อมูลส่วนตัวทั่วไป
    รายละเอียดของผู้เช่าและผู้ให้เช่า ชื่อ-สกุล อายุ เบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่ที่ติดต่อได้ รวมถึงเลขที่ห้องและที่อยู่คอนโด
  2. ระยะเวลาเช่า
    ระบุวันที่เริ่มต้นเช่าและระบุวันเวลาว่าเช่าเป็นระยะเวลานานเท่าไร
  3. รายละเอียดทรัพย์สินที่ปล่อยเช่า
    ทำการแนบท้ายรายการทรัพย์สินภายในห้อง ที่ปล่อยให้เช่าพร้อมกับห้อง ทั้งนี้รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ เช็กสภาพสิ่งของแต่ละชิ้นก่อนปล่อยเช่าและหลังจากผู้เช่าตกลงย้ายออก (ผู้เช่าและผู้ให้เช่าเห็นร่วมกัน) ให้ทั้งสองฝ่ายเก็บภาพไว้เป็นหลักฐาน ป้องกันสิทธิโดนเอารัดเอาเปรียบเรื่องการจ่ายค่าปรับของทั้งฝ่ายเจ้าของห้องและผู้เช่า ในกรณีเกิดความเสียหายจะปรับตามจำนวนเงินค่าซ่อมแซมที่ระบุไว้ในสัญญา
  4. ความรับผิดชอบของผู้เช่า
    ชี้แจงรายละเอียด ค่าใช้จ่ายที่ผู้เช่าต้องรับผิดชอบ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ดูแลรักษาความสะอาดพื้นที่ห้องไม่ให้สกปรก และความเสียหายในกรณีที่ผู้เช่าทำทรัพย์สินเสียหาย
  5. การชำระเงิน
    จำนวนเงินที่จ่ายก่อนเข้าพัก แบ่งเป็นค่าเช่าล่วงหน้า ค่ามัดจำ ค่าเช่าในแต่ละเดือน กำหนด วันที่และเวลาในการชำระเงินของทุก ๆ เดือน การคืนเงินมัดจำกรณีต่าง ๆ (ถ้ามี) ไม่ลืมระบุค่าปรับและขั้นตอนการทวงถามหรือการส่งหนังสือแจ้งหนี้ให้ชำระในกรณีชำระล่าช้า
  6. ความรับผิดชอบกรณีทำผิดสัญญา
    หัวข้อนี้ถือเป็นเนื้อหาสำคัญที่ควรระบุลงบนสัญญาเช่าคอนโดอย่างมาก เพื่อป้องกันฝ่ายใดฝ่านหนึ่งผิดสัญญา การให้เช่าโดยทรัพย์เป็นพื้นที่ส่วนตัวของผู้เช่า หากเกิดกรณีมีฝ่ายใดผิดสัญญาสามารถยกเลิกสัญญาได้ หรือหากผิดข้อตกลงกันอย่างร้ายแรงสามารถนำหลักฐานฉบับนี้ฟ้องร้องต่อศาลได้

ดาวน์โหลดสัญญาเช่าคอนโด บ้าน อาคาร (ฟรี)

สัญญาเช่าคอนโด

หนังสือสัญญาเช่าคอนโดและบ้าน : คลิก

เรื่องที่ “ผู้เช่า” ควรทราบก่อนทำสัญญาเช่าคอนโด

  1. เปรียบเทียบกับคอนโดอื่น ๆ ความคุ้มค่าของเงินที่เสียไปกับสิ่งอำนายความสะดวกต่าง ๆ ที่จะได้รับ ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ภายในห้อง ค่าส่วนกลาง ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ส่วนใหญ่จะมีฟิตเนส ที่จอดรถ ฯลฯ
  2. เคลียร์ค่าส่วนกลางให้ชัดเจน ผู้เช่า หรือ ผู้ให้เช่า ใครเป็นคนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้
  3. สอบถามข้อบังคับเพิ่มเติมและระบุลงในสัญญาอย่างชัดเจน เช่น ชื่อ-สกุล จำนวนผู้อยู่อาศัย การดูแลรักษาเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นใหญ่ เช่น การล้างแอร์บ้านปีละกี่ครั้ง
  4. สอบถามเรื่องกฎระเบียบคอนโด ผู้ให้เช่าต้องมอบเอกสารหรือชี้แจงกฎคอนโดให้ผู้เช่าทราบอย่างละเอียด เช่น อนุญาตหรือข้อห้ามเลี้ยงสัตว์ ผู้อยู่อาศัยได้ไม่เกินจำนวนกี่คน เป็นต้น
  5. มีข้อกฎหมายว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2562 ที่ช่วยคุ้มครองผู้บริโภคในด้านต่าง ๆ เช่น การกำหนดส่งใบแจ้งหนี้ การคืนเงินประกัน การบอกเลิกสัญญา เหตุผิดสัญญา ฯลฯ

เรื่องที่ “ผู้ให้เช่า” ควรทราบก่อนทำสัญญาเช่าคอนโด

หลายคนในฐานะผู้ให้เช่าอาจจะมีคอนโดที่ปล่อยเช่าได้ โดยไม่ติดภาระใด ๆ แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่กู้ซื้อที่อยู่อาศัยเพื่อการลงทุนปล่อยเช่า แต่เมื่อเกิดกรณีที่ผู้เช่าไม่ยอมจ่ายค่าเช่า อาจกระทบผู้ให้เช่าที่ต้องแบ่งเงินค่าเช่าไปผ่อนชำระกับทางธนาคาร ถ้าหากผู้เช่าไม่ยอมจ่ายค่าเช่า จะต้องมีการแจ้งผู้เช่าตามขั้นตอน ดังนี้

  1. กลับไปอ่านสัญญาเช่าคอนโดที่เขียนร่วมกัน มีเงื่อนไข ขั้นตอนการดำเนินการอย่างไร เช่น เมื่อผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่าจะต้องมีการติดตาม ทวงถามด้วยวาจา แต่ถ้าหากยังไม่จ่ายอีกก็มีสิทธิทำเป็นหนังสือแจ้งให้เจ้าของห้องทราบ เนื่องจากสัญญาจะมีการลงลายมือชื่อรับทราบทั้งสองฝ่าย สามารถดำเนินการตามขั้นตอนได้ จึงเป็นเหตุที่ว่าทำไมการเขียนสัญญาเช่าคอนโดต้องเขียนแบบรัดกุม
  2. หากทำทุกอย่างตามที่ระบุในสัญญาแล้ว แต่ผู้เช่าก็ยังไม่มีความเคลื่อนไหวใด ๆ สามารถแจ้งความได้ โดยการนำสัญญาและสำเนาหนังสือที่มีการส่งให้ผู้เช่าไปก่อนหน้านี้ แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ ณ สถานีตำรวจ และแจ้งเพื่อไกล่เกลี่ยดำเนินการ (เจ้าหน้าที่ไม่ได้เรียกมาเพื่อขับไล่ เน้นการพูดคุยเจรจาร่วมกัน)
  3. หากหลังจากแจ้งความแต่ผู้เช่ายังไม่มีวี่แววจะชำระเงินให้ สามารถฟ้องร้องต่อศาลได้ โดยมีสิ่งที่ห้ามกระทำอย่างเด็ดขาด คือล็อกประตู กุญแจ หรือขนของผู้เช่าออกจากห้องเด็ดขาด (รุกล้ำพื้นที่ส่วนตัว) ควรดำเนินการตามขั้นตอนดีที่สุด

วิธีคัดกรองผู้เช่าให้ไม่เกิดปัญหา

วิธีเลือกผู้เช่า

ในมุมมองของผูให้เช่า ที่ปล่อยคอนโดให้ผู้เช่าเข้ามาอยู่อาศัย ก็อยากให้ผู้เช่าจ่ายเงินให้ตรงเวลา มีพฤติกรรมเป็นผู้เช่าที่ดี ดูแลความสะอาดห้อง และอยู่อาศัยโดยไม่มีเหตุที่ทำให้ทรัพย์สินเสียหาย แต่ไม่ว่าจะเกิดกรณีใดหรือติดปัญหาส่วนไหน ควรจะแก้ปัญหาด้วยวิธีการเจรจา การพูดคุยร่วมกันด้วยเหตุผล ถือเป็นทางออกที่ดีและลงตัวที่สุด

ผู้เช่าบางรายก่อนหน้าเป็นผู้เช่าที่มีพฤติกรรมดี จ่ายค่าเช่าตรงเวลามาตลอด แต่อยู่มาวันหนึ่งก็เกิดไม่จ่ายเงินหรือจ่ายเงินค่าเช่าล่าช้า เป็นไปได้ว่าผู้เช่าอาจจะกำลังประสบปัญหาด้านการเงิน หากเป็นไปได้ผู้ให้เช่าก็ต้องลองเข้าไปพูดคุยถามไถ่ ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น เหตุการณ์ที่หลายคนต้องตกงานในช่วงเศรษฐกิจยุคโควิด 19 ส่วนในกรณีที่เหนือความสามารถ พูดคุยด้วยความเข้าใจและให้ย้ายออกเพื่อหาผู้เช่ารายใหม่ต่อไปจะดีกว่า

ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานี้ ทั้งผู้เช่าและผู้ให้เช่าหลาย ๆ คนก็อาจจะได้เห็นถึงความสำคัญของการเขียนสัญญาและเนื้อหาสำคัญที่ไม่ควรพลาด เพราะถือเป็นเอกสารหนึ่งฉบับที่จะช่วยรักษาสิทธิให้ทั้งส่องฝ่ายเมื่อเกิดการฟ้องร้องขึ้น ดังนั้น ก่อนเซ็นลายมือชื่อบนสัญาเช่าคอนโด สัญญาเช่าบ้าน หรือสัญญาใด ๆ ก็ตามแต่ ควรอ่านและทำความเข้าใจให้ดีก่อน ส่วนกรณีที่ผู้เช่ารู้สึกว่าสัญญาไม่เป็นธรรมก็สามารถโต้แย้งได้

หมวดหมู่