top

รอบรู้เรื่องอสังหาฯ

รอบรู้เรื่องอสังหาฯ รอบรู้เรื่องบ้าน เงินไม่พอ ผ่อนบ้านไม่ไหว ขอประนอมหนี้มีวิธีไหนบ้าง?
ผ่อนบ้านไม่ไหวทำยังไง

สถาการณ์เศรษฐกิจที่จับทิศทางได้ยากแบบนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้ เช่น การเปลี่ยนแปลงในเรื่องของหน้าที่การงาน รายได้ต่อเดือนที่ลดลง แต่ในทางตรงกันข้ามราคาน้ำมัน วัตถุดิบ ราคาที่ต้องจ่ายเพื่อการดำรงชีวิตไม่ได้ลดลงตาม มีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แล้วแบบนี้คนที่ผ่อนบ้าน ผ่อนคอนโด อยู่ควรทำอย่างไรเมื่อเริ่มรู้สึกผ่อนบ้านไม่ไหว และไม่อยากโดนยึดบ้านด้วย สาระอสังหา แชร์แนวทางแก้ปัญหา แนวทางในการตัดสินใจ เผื่อเป็นทางเลือกที่ช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้

การขอประนอมหนี้เมื่อเริ่มผ่อนบ้านไม่ไหว คืออะไร

การประนอมหนี้ คือ การขอผ่อนผันหรือชะลอการชำระหนี้ เนื่องมาจากสถานการณ์ทางการเงินที่กำลังตกอยู่ในสภาวะขาดสภาพคล่องทางการเงิน เริ่มผ่อนคอนโด ผ่อนบ้านไม่ไหว ค่าใช้จ่ายส่วนตัวก็เยอะ เป็นการเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อปรับเปลี่ยนข้อตกลงในการชำระหนี้ ป้องกันการผิดนัดชำระหนี้ไปดื้อ ๆ โดนฟ้องร้องหรือยึดทรัพย์สิน

ผ่อนไม่ไหวประนอมหนี้ยังไง

6 วิธีแก้ปัญหาหนี้บ้าน เมื่อเริ่มผ่อนไม่ไหว

1.ยืดเวลาชำระหนี้ให้นานขึ้น

เจ้าของบ้านสามารถเข้าไปเจรจากับธนาคารเจ้าหนี้ อธิบายสถานการณ์ทางการเงินว่าไม่สามารถผ่อนจ่ายเท่าเดิมไหว เนื่องจากสาเหตุอะไร และขอขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้นานขึ้น เช่น ยืดระยะเวลาจาก 20 ปี เป็น 40 ปีเพื่อจ่ายต่อเดือนลดลง ข้อดีของวิธีการนี้ คือ ช่วยลดค่างวดที่ต้องจ่ายต่อเดือนให้น้อยลง (อายุของผู้กู้และเวลาขอขยายรวมกันไม่เกิน 70 ปี) แต่ข้อเสีย คือ ยิ่งผ่อนน้อยลง ในขณะที่ใช้เวลานานขึ้นเท่าไหร่ เงินต้นที่เหลืออยู่จะถูกนำมาคิดดอกเบี้ย และทำให้ค่าดอกเบี้ยสูงขึ้น

2.ขอผ่อนชำระต่ำกว่าปกติ

เป็นการเจรจากับทางธนาคารเจ้าหนี้เช่นเดียวกัน ด้วยเหตุผลว่าจ่ายค่าบ้านในจำนวนเท่าเดิมไม่ไหว ขอคำปรึกษาว่ามีทางออกอะไรให้บ้าง ขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคารว่ามีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าอย่างไร ซึ่งวิธีการนี้จะเหมาะกับผู้ที่รับรายได้เป็นประจำทุกเดือน แต่มีเหตุผลที่ทำให้รายได้ต่อเดือนลดลงหรือมีรายได้เท่าเดิมแต่รายจ่ายสูงขึ้น

3.ขอโอนบ้านเป็นของธนาคารชั่วคราว

สำหรับผู้ที่คาดว่ารายได้ตนเองยังอยู่ในสถาการณ์จ่ายไม่ไหวไปอีกสักพักใหญ่ สามารถทำสัญญาเป็นรายปี แล้วทำการขอไถ่ถอนบ้านคืนในภายหลัง

4.รีไฟแนนซ์

การรีไฟแนนซ์บ้าน คือ การขอจบสัญญาสินเชื่อบ้านกับธนาคารเดิม แล้วขอทำสัญญาใหม่กับธนาคารใหม่ที่ให้เงื่อนไขดี หรือยอมลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะต้องมีการเตรียมเอกสาร ค่าใช้เหมือนการขอสินเชื่อใหม่ทั้งหมด อาจมีค่าธรรมเนียมและค่าปรับที่ต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าคุ้มเวลา (ปธท.ประกาศห้ามเก็บค่าปรับจนถึง 31/12/2566)

5.รีเทนชัน

เป็นวิธีคล้าย ๆ กับการรีไฟแนนซ์ แต่เป็นการขอลดอัตราดอกเบี้ยกับธนาคารเดิม ซึ่งข้อดีคือการประหยัดเวลาดำเนินการยื่นเอกสาร (ธนาคารเดิมมีข้อมูลลูกค้าอยู่แล้ว) แต่อาจจะลดอัตราดอกเบี้ยและรายจ่ายต่อเดือนได้ไม่มากเท่ากับการรีไฟแนนซ์

6.ขายบ้าน

วิธีที่หลายคนกังวลว่า หากผ่อนบ้านไม่หมดสามารถขายบ้านได้หรือไม่ แท้จริงแล้วสามารถทำได้ เจ้าของบ้านคนเดิมต้องหาผู้ซื้อรายใหม่มาปิดหนี้จำนองก้อนเก่าให้หมด ซึ่งข้อดีของวิธีนี้คือเป็นการปลดภาระก้อนใหญ่ และอาจได้กำไรจากการขายไปใช้หนี้หรือลงทุนต่อ (แล้วแต่กรณีความยาก ง่าย ในการขาย ขึ้นอยู่กับจุดเด่นของทรัพย์และทำเล) แต่สำหรับบางคนอาจเป็นการตัดสินใจที่ยาก เพราะวิธีนี้ส่วนใหญ่จะใช้เป็นทางออกสุดท้าย ไม่มีใครอยากเสียบ้านที่เรารักไปง่าย ๆ นั่นเอง

 

ในช่วงเศรษฐกิจแบบนี้ปัญหาที่พบเห็นกันหลัก ๆ เลยก็คือการรับรายได้เท่าเดิม แต่รายจ่ายต่อเดือนเพิ่มสูงขึ้นจนทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด และหนี้บ้านก็ตามที่ทราบกันดี อาจเป็นหนี้ก้อนใหญ่ที่สุดในชีวิตของใครหลาย ๆ คน หากเริ่มรู้สึกผ่อนบ้านไม่ไหว การขอประนอมหนี้กับเจ้าหนี้หรือธนาคารก็ถือเป็นอีกทางเลือกที่สามารถทำได้ อย่างน้อยก็เกิดความสบายใจทั้งต่อเราที่ได้ทางแก้ปัญหา และเจ้าหนี้ที่ทราบสภาพคล่องทางการเงินของลูกหนี้ เพราะการกู้ยืมเงินเป็นสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างเราและเจ้าหนี้ ดังนั้น เนื้อหาในกระดาษสามารถเปลี่ยนแปลงได้เสมอ หากทั้งสองฝ่ายเกิดการเจรจาและตกลงกันด้วยความเข้าใจ ถือเป็นวิธีที่ดีกว่าการหายไปเฉย ๆ หรือโดนฟ้องร้องให้ยึดทรัพย์นั่นเอง

หมวดหมู่