เรื่อง (ไม่ลับ) พื้นฐานและข้อควรรู้ ก่อนผันตัวตัวสู่เส้นทางอาชีพ ‘นายหน้า’
อย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่าเศรษฐกิจในปัจจุบันมีหลากหลายเหตุผลที่ทำให้เกิดการผันผวนขึ้น-ลง บางทีการทำงานประจำอย่างเดียวอาจไม่ตอบโจทย์กับรายจ่ายของหลาย ๆ ครอบครัว แต่ภายใต้เรื่องร้าย ๆ อย่างน้อยก็ยังมีโซเชียลมีเดียที่เชื่อมต่อทุกคนให้เข้าถึงกันได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น การทำธุรกิจหรืออาชีพเสริมจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกเพื่อเพิ่มรายรับให้กับเรา อาชีพนายหน้าอสังหาริมทรัพย์เองก็เช่นเดียวกัน การขายทรัพย์อสังหาฯ อาจไม่ใช่เรื่องง่ายหากปราศจากพื้นฐานและข้อควรรู้ สาระอสังหา จึงจะมาพูดถึงเรื่องที่ควรทราบก่อนประกอบอาชีพนายหน้าให้รุ่ง เพราะการเป็นนายหน้าใคร ๆ ก็สามารถเป็นได้ แต่การเป็นนายหน้าที่ประสบความสำเร็จต้องใช้ทั้งทักษะ ความรู้ ความเข้าใจ เทคนิคการตลาด และพัฒนาศักยภาพของตัวเองอยู่เสมอ
นายหน้า หมายถึงใคร?
คำนิยามของคำว่า ‘นายหน้า’ ตามความเข้าใจทั่ว ๆ ไป คือ อาชีพที่ไม่มีต้นทุน อาชีพจับเสือมือเปล่า เพียงพาผู้ซื้อและผู้ขายมาตกลงร่วมกัน เท่านี้ก็ได้ค่าตอบแทนเป็นค่านายหน้าแล้ว (โดยมีค่าตอบแทนเริ่มที่ 3% ของราคาทรัพย์) ภาพลักษณ์ของนายหน้าในมุมมองของหลาย ๆ คนอาจมองว่าหากทำเป็นอาชีพหลักหรือเสริมก็สามารถทำได้ง่าย ๆ แต่ในความเป็นจริงอาชีพนายหน้ามีหลายสิ่งที่ต้องทำเพื่อท้าทายศักยภาพของตัวเอง
อาชีพนายหน้า เป็นบทบาทหนึ่งที่มีความสำคัญต่อวงการอสังหาริมทรัพย์เป็นอย่างมาก ทำให้เกิดการผลักดันการซื้อ-ขาย เปลี่ยนมือ หาทรัพย์ให้กับผู้ที่มีความสนใจ ซึ่งตามหลักกฎหมายแล้ว นายหน้าคือ ผู้ที่ชี้ช่องทางให้ผู้ซื้อและผู้ขายได้เซ็นสัญญาร่วมกัน เพื่อรับค่าตอบแทน ‘เงินค่านายหน้า’ นั่นเอง
สิ่งที่ทำให้การทำอาชีพนายหน้าโดดเด่นกว่าคู่แข่งมีอะไรที่ควรรู้บ้าง?
1.ความรู้ในเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ต้องมีความรู้ในเรื่องของข้อสัญญา สัญญานายหน้า สัญญาจะซื้อจะขาย ข้อกฎหมาย รวมถึงขั้นตอนการทำธุรกรรมกับสำนักงานที่ดิน ซึ่งปกติแล้วสัญญาที่เจ้าของทรัพย์จะทำกับนายหน้าจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ สัญณาเปิด ที่เป็นลักษณะการทำสัญญาที่เปิดโอกาสให้นายหน้าหลาย ๆ เจ้าเข้ามาทำการตลาดในทรัพย์ชิ้นเดียวกันได้ (จ่ายค่าคอมมิชชันให้เพียงผู้ที่ขายได้) และสัญญาปิด เป็นสัญญาที่ให้สิทธิ์การทำการตลาดกับนายหน้าเพียงเจ้าเดียว แต่มีข้อแม้ว่าต้องขายทรัพย์ให้ได้ตามระยะเวลาที่ได้ระบุไว้ในสัญญา ส่วนในหัวข้อกฎหมายที่ควรทราบ คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 845-849
2.รวบรวมข้อมูลในการจัดหาสินทรัพย์
2.1การหาสินทรัพย์ไว้ในครอบครอง เพราะการขายสินค้าไม่ว่าจะเป็นประเภทหรือรูปแบบไหน ผู้ขายจำเป็นต้องมีทรัพย์หรือสินค้านั้น ๆ ก่อน
2.2การจำแนกทรัพย์ตามหมวดหมู่ โดยจำแนกตามทำเล ขนาด ราคา และเงื่อนไขการขาย ทั้งนี้ก็เพื่อให้เราได้เสนอขายสินค้าได้ตรงกับความต้องการของลูกค้านั่นเอง
หมายเหตุ : ไม่ลืมลงรายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลเชิงลึกของทรัพย์ เพื่อให้ทราบว่ามีจุดขายใดที่สามารถทำการตลาดได้บ้าง มีข้อมูลปลีกย่อยทั้งราคา และวัสดุต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการเสนอขาย อีกทั้งยังต้องเช็กราคาประเมินและราคาตลาดก่อนเสมอ เพราะปัญหาส่วนใหญ่ที่ทำให้ทรัพย์ขายไม่ได้ นั่นคือการที่ผู้ขายตั้งราคาสูงเกินไป (ปล่อยทรัพย์ยาก)
3.การจัดการ กระบวนการขายที่มีความเป็นมืออาชีพ
3.1อำนวยความสะดวกเรื่องการขอสินเชื่อ และจัดทำตารางรายละเอียดสินเชื่อเบื้องต้นรวบรวมหลาย ๆ ธนาคาร ในเรื่องของเงื่อนไข สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ (ดอกเบี้ย สินเชื่อ โปรโมชันของแต่ละธนาคาร) เพื่อจับคู่ความต้องการขอลูกค้ากับสินเชื่อ-ดอกเบี้ยที่สอดคล้องและอยู่ในจุดที่พึงพอใจ
3.2มีพันธมิตรหรือมี Connection ที่ดีกับพนักงานที่ปล่อยสินเชื่อเกี่ยวกับอสังหาฯ เพราะจะช่วยลดขั้นตอนความยุ่งยากในเรื่องการขอเอกสารกับทางธนาคาร3.2มีพันธมิตรหรือมี Connection ที่ดีกับพนักงานที่ปล่อยสินเชื่อเกี่ยวกับอสังหาฯ เพราะจะช่วยลดขั้นตอนความยุ่งยากในเรื่องการขอเอกสารกับทางธนาคาร
3.3เรียนรู้ช่องทางการทำการตลาดที่หลากหลาย ซึ่งเทคนิคที่ดึงศักยภาพการขาย การพูดคุย เจรจาเก่งออกมาอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ต้องใช้สื่อทั้งรูปแบบออนไลน์แลพออฟไลน์ช่องทางต่าง ๆ ให้เป็นประโยชน์ เช่น เว็บไซต์ ป้ายประกาศ โซเชียลมีเดีย เพราะความถนัดหรือแหล่งเสพข่าวสารของผู้คนแต่ละช่วงวัยอาจมีความแตกต่างกัน การกระจายข้อมูลไปได้มากนั่นคือโอกาสการทำคะแนนของเราให้นำคู้แข่ง
3.4ทางธนาคารออกเช็คเป็น 3 ส่วน เพื่อลดความยุ่งยากในอนาคต (แต่ละธนาคารมีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน) เช่น
- เช็คสำหรับผู้ซื้อ 1 ใบ ในกรณีที่กู้สินเชื่อสูงกว่าราคาซื้อ-ขาย (คอนโดเงินเหลือ)
- เช็คสำหรับนายหน้า 1 ใบ เพื่อลดความยุ่งยากที่ต้องไปขอกับเจ้าของทรัพย์โดยตรง โดยจะได้ที่ 3% ของราคาซื้อ-ขาย (แหล่งท่องเที่ยว ภูเก็ต พัทยา ได้เริ่มต้นที่ 3-10% ของราคาซื้อ-ขาย)
- เช็คสำหรับผู้ขาย 1 ใบ
4.อาชีพนายหน้าเป็นอาชีพที่จะได้รับค่าตอบแทนเมื่องานสำเร็จแล้วเท่านั้น
นั่นคือเกิดการทำสัญญาซื้อขาย และโอนกรรมสิทธิ์ ณ กรมที่ดิน ถึงจะได้รับค่าคอมมิชชัน 3% จากราคาซื้อขาย (บางกรณีมีการหักเงินจองเพื่อจ่ายค่าตอบก่อนบางส่วน) จึงต้องมีความกระตือรือร้นในหน้าที่เพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงตามกำหนด
5.เป็นอาชีพที่ไม่มีเพดานรายได้
ขึ้นอยู่กับการทำงาน ยิ่งปิดการขายได้มากเท่าไหร่ก็เท่ากับว่ารับรายได้เพิ่มมากขึ้น กลับกันหากทำการตลาดเยอะ เจรจาเยอะ แต่ไม่มีลูกค้าสนใจนั่นก็ถือเป็นการเสียแรงเปล่า จึงเป็นคำตอบว่านายหน้าไม่ใช่เพียงคนกลาง แต่ต้องมีเทคนิค ทักษะ การเรียนรู้ที่ต้องพัฒนาอยู่ตลอดเวลาและโดดเด่นกว่าผู้อื่น
6.ประเภทของนายหน้า
ในความเป็นจริงนายหน้าถูกแบ่งออกเป็นหลายประเภท เช่น นายหน้าที่ดิน นายหน้าบ้าน นายหน้าคอนโดฯ หรือการขายอสังหาริมทรัพย์ทุกอย่าง ดังนั้น การประกอบอาชีพนายหน้าต้องดูความถนัดและความสนใจในการขายของตนเองประกอบด้วย
การทำอาชีพนายหน้า (อาชีพเสริม) ให้ประสบความสำเร็จต้องรู้อะไรบ้าง?
1.ต้องมีการวางแผน รวมถึงมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับขอบเขตงานและหน้าที่
2.การเรียนรู้ที่เกิดจากประสบการณ์จริง นำจุดอ่อนกลับมาพัฒนาตัวเอง ศึกษาเรื่องสินเชื่อ รวมถึงการเรียนรู้ปัญหาต่าง ๆ
ความแตกต่างของการทำอาชีพนายหน้าแบบอิสระ (Freelance) และผ่านบริษัท
1.การทำอาชีพนายหน้าแบบอิสระ (Freelance) มีข้อดีเมื่อขายทรัพย์ได้ก็ไม่จำเป็นต้องแบ่งส่วนแบ่งให้ใคร แต่ภายใต้ข้อดีก็ยังมีข้อยากและถือเป็นอุปสรรคต่องาน นั่นคือ ความน่าเชื่อถือในสายตาลูกค้า เพราะไม่ว่าใครก็ต้องการสิ่งการันตีและมั่นใจว่าการซื้อขายครั้งนี้จะไม่ถูกโกง (ขึ้นอยู่กับมุมมองของลูกค้า)
2.การทำอาชีพนายหน้าสังกัดบริษัท เช่น ทำหน้าที่ดูแลโครงการบ้านต่าง ๆ ของบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ข้อดีการสังกัดบริษัทนอกจากมีความน่าเชื่อถือแล้ว ยังสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า (โอกาสในการขายทรัพย์) มีทั้งสวัสดิการ ความมั่นคง ความได้เปรียบในการทำการตลาด
หากสนใจอยากเป็นนายหน้าแต่ยังไม่มีพื้นฐานอาชีพ ต้องการเทคนิค ความรู้ และเรื่องต่าง ๆ ที่ควรทราบเกี่ยวกับแวดวงอสังหาฯ The Wisdom Property เปิดโอกาสให้ทำกำไรจากการเป็นนายหน้าขายบ้านและที่ดินผ่านบริษัท โดยไม่ต้องลงทุนเอง มีทีมงานมากประสบการณ์คอยให้คำปรึกษา อีกทั้งยังให้ค่าคอมมิชชันสูงสุดถึง 5.5%
สำหรับใครที่อยากเริ่มทำอาชีพนายหน้า สาระอสังหา มองว่าไม่มีคำว่าสายเกินไป เพราะทุกคนมีโอกาสที่จะเรียนรู้เพื่อทำประกอบชีพได้หากมีความตั้งใจและมุ่งมั่นจริง แต่การทำงานให้มีความเป็นมืออาชีพต้องผ่านระยะเวลาในการเรียนรู้ให้คุ้นชินกับแวดวงอสังหาฯ ต้องใช้ความพยายามที่จะพัฒนาตัวเองอยู่เสมอจึงจะสามารถสร้างยอดขายหรือรายรับอย่างยั่งยืนได้