ก่อนถมดินต้องรู้อะไร มีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ พร้อมสูตรคำนวณละเอียด
วางแผนถมดินเพื่อใช้ประโยชน์ ต้องคำนึงถึงเรื่องไหนบ้าง ก่อนส่งงานให้ผู้รับเหมาต้องเตรียมข้อมูลอะไร แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าค่าใช้จ่ายโดยประมาณอยู่ที่เท่าไหร่ เตรียมความพร้อมไปกับสาระอสังหา ซึ่งต้องกล่าวก่อนเลยว่าค่าใช้จ่ายในการถมที่ดินในแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัด มักแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับการหายาก-ง่ายของดิน (ชนิดดิน) ที่ใช้ในพื้นที่นั้น ๆ รวมทั้งระยะทาง ความใกล้-ไกลจากบ่อดินเพียงใด พร้อมยกตัวอย่างอธิบายให้เห็นภาพ
แต่ก่อนจะไปคำนวณค่าใช้จ่าย มาทำความรู้จักประเภทดินถมที่ คุณสมบัติ และราคา ของดินแต่ละประเภทกันก่อน
5 ประเภทดินถม รู้คุณสมบัติ และพิจารณาก่อนเลือกใช้
- ดินเหนียว เป็นดินที่ลักษณะเนื้อมีความละเอียด อุ้มน้ำได้ดี คายน้ำยาก ส่งผลให้บดอัดยาก (ใช้เวลาทำให้แน่นยาก) แต่ต้นทุนถูก
- ดินทราย เป็นดินที่มีส่วนประกอบของทรายประมาณ 70% ถือเป็นดินเนื้อดี ไม่อุ้มน้ำ และบีบคายน้ำออกไปได้ แต่มีเงื่อนไขการนำไปใช้กับบางพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นบ่อน้ำ แอ่งน้ำ ซึ่งดินชนิดนี้สามารถรีดน้ำออกไปได้ดี แต่ก็เคลื่อนตัวได้ดีเช่นกัน เพราะช่วงฝนตกดินทรายจะขยับตามน้ำได้ง่าย จึงไม่เหมาะนำมาถมขึ้นกอง
- ดินดาน/ดินซีแลค เหมาะนำมาถมเพื่อสร้างบ้าน โรงงาน โครงการใหญ่ ข้อดีภายใต้ทุนที่แพงกว่าดินชนิดอื่น คือการได้รับคุณภาพที่ถือว่าคุ้มค่ากว่า มีเนื้อแห้งลักษณะดินผสมทรายที่ไม่ได้ละเอียดมากจนเกินไป ทำให้บีบอัดได้ง่าย
- ดินลูกรัง เหมาะใช้เป็น Bases ของถนน ลักษณะเนื้อดินเป็นเม็ดสีแดง มีดินและทรายผสมอยู่เป็นส่วนน้อย ซึ่งมีคุณสมบัติดีที่สุดในการบดอัด ได้ความแข็งแรงสูง หายากและพบได้ยาก ส่งผลให้มีราคาแพง
- หน้าดิน/ดินดำ ดินที่มีสารอาหารและเศษซากจุลินทรีย์เยอะ เป็นดินที่อยู่บริเวณหน้า มีความลึกไม่ถึง 50 ซม. จึงทำให้ดินชนิดนี้มีราคาแพง ไม่เหมาะนำมาถมที่ลึก ๆ (มีการย่อยสลายอยู่) แต่เหมาะกับการนำมาถมเป็นหน้าดินในกรณีที่ใช้เป็นพื้นที่จัดสวน ปลูกต้นไม้ ไม่ได้ถมทั้งแปลง
วิธีคำนวณหาค่าใช้จ่ายการถมดิน 2 รูปแบบ
1.แบบตีเหมา หมายถึง ผู้รับเหมาขอเก็บรายละเอียดกับผู้จ้างถึงความต้องการถมที่ดิน ว่าต้องการความสูงเท่าไหร่ กี่เมตร การบดหรืออัดแน่น หลังจากพูดคุยจนทราบรายละเอียดเบื้องต้นแล้ว ผู้รับเหมาจะทำการลงพื้นที่ตรวจสอบเพื่อประเมินราคา วัดพื้นที่ต่าง ๆ แล้วทำการแจ้งค่าใช้จ่ายให้กับเจ้าของที่
และเมื่อไหร่ที่ตกลงร่วมกันด้วยความเข้าใจ ผู้รับเหมาจะเริ่มดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนที่ได้ตกลงกันไว้ ซึ่งวิธีตีเหมานี้ จะมีข้อดีที่สร้างสะดวกกับตัวเจ้าของที่ดิน เพราะแทบไม่ต้องทำอะไรเลย เพียงพูดคุยกันก่อนเริ่ม-หลัง จากนั้นก็เพียงแค่ตรวจสอบงานเท่านั้นเอง แต่ก็ยังมีข้อเสียในส่วนของการจ้างผู้รับเหมา หากเจอผู้รับเหมาเจ้าที่ไม่ได้เต็มที่กับงาน อาจมีการโก่งราคาขึ้นสูง ดังนั้น ถ้าเลือกใช้วิธีนี้ในการจ้างถมดิน สามารถสอบถามราคาประเมินกับผู้รับเหมาหลาย ๆ เจ้าเพื่อนำมาพิจารณาก่อนได้
2.แบบนับเที่ยว หมายถึง ผู้รับเหมามีการคิดราคาในการถมที่ดินจากการอ้างอิงจำนวนรถ ว่ามีการใช้รถขนดินมาแล้วกี่คัน (นับเป็นคัน) ซึ่งแยกเป็นประเภทของรถด้วยว่า รถชนิดนี้หากขน 1 เที่ยวจะคิดราคาเท่าไหร่ และขนทั้งหมดจำนวนกี่เที่ยว (ส่วนใหญ่จะบดอัดที่ดินให้ด้วย) แต่อย่างไรก็ตามเจ้าของที่ก็ต้องสอบถามกับทางผู้รับเหมาอีกรอบว่มามีการบดอัดที่ดินให้ด้วยหรือไม่ หรือเพียงแค่ขนส่งดินเพื่อขายให้เรา ซึ่งวิธีถมดินแบบนับเที่ยวนี้ จะมีข้อดี คือ ความเป็นธรรมต่อทั้งฝ่ายเจ้าของที่และผู้รับเหมา อีกทั้งยังเหมาะกับผู้ที่ไม่มั่นใจว่าต้องการถมดินที่ความสูงเท่าไหร่ ให้ผู้รับเหมาถมต่อไปเรื่อย ๆ พอได้ระดับดินที่พึงพอใจแล้วก็สามารถหยุดการขนส่ง แต่ข้อเสียของวิธีนี้ คือ ต้องมีผู้ที่ไว้ในได้คอยนับและเฝ้าจำนวนเที่ยวรถที่ขนดินมา เพราะถ้าไม่นับก็มีโอกาสถูกโกงได้
ดังนั้นเราในฐานะเจ้าของที่ดินก็ควรนำทั้ง 2 รูปแบบมาพิจารณาดูว่าตัวเราเหมาะกับวิธีไหน มีเวลาว่างหรือไม่ แล้วหลังจากนั้น ต้องลองพูดคุยเรื่องวิธีการทำงานและประเมินราคากับผู้รับเหมาหลาย ๆ เจ้าว่าราคาไหนที่เราพึงพอใจ (วิธีการประเมินราคาแบบตีเหมาจะไม่ยุ่งยากเท่าแบบนับเที่ยว)
สูตรการคำนวณรายจ่ายเบื้องต้นของการถมที่ดิน
เพื่อการใช้สูตรคำนวณหารายจ่ายเบื้องต้น ยังมีอีก 2 ส่วนที่ต้องทราบ คือ
- จำนวนดินที่ต้องใช้ในการถม มาก-น้อย กี่คันรถ กี่คิว
- ค่าใช้จ่ายในการถมดินต่อคิว ต่อเที่ยว ซึ่งต้องสอบถามรายละเอียดกับผู้รับเหมาว่าโดยปกติขายกี่คิว เที่ยวละเท่าไหร่ ประเภทรถ 6 ล้อหรือ 10 ล้อ
วิธีการคำนวณค่าใช้จ่ายในการถมที่ดิน
(1) ทราบขนาดเนื้อที่ดิน กี่ไร่/งาน/ตารางวา
แปลงเนื้อที่ให้เป็นตารางเมตร เพราะจะนำตารางเมตรคำนวณหาดินที่ใช้ในการถม สามารถเทียบบัญญัติไตรยางศ์ เช่น
- ที่ดิน 1 ไร่ = 4 งาน = 400 ตร.ว.
- 1 งาน = 100 ตร.ว.
- 100 ตร.ว. = 400 ตร.ม.
- ดังนั้น หากถมดิน 2 ไร่ = 3,200 ตร.ม.
(2) ความต้องการถมที่ดินสูงเท่าไหร่ (เมตร)
เพราะต้องนำขนาดที่ดินตร.ม. คูณความสูงที่ต้องการถม เพื่อให้ได้จำนวนดินที่ต้องใช้ถม ซึ่งมีหน่วยเป็นคิว (คิว คือ หน่วยวัดปริมาตร 1 คิว = 1 ลบ.ม.) เช่น
- 2 ไร่ = 3,200 ตร.ม. x ความต้องการถมดินสูง 1 ม.
- ดังนั้น ปริมาณดินเท่ากับ 3,200 คิว แต่ในการถมดินต้องมีการบดอัดที่ดินด้วย ฉะนั้น จะไม่ได้ใช้ดินเพียง 3,200 คิว เพราะต้องนำมาคำนวณเผื่อการบดอัดที่ทำให้ที่ดินยุบ 20-30% ของคิวทั้งหมด ( 640 คิว) ได้ปริมาณดินที่ใช้ถมทั้งหมดประมาณ 3,200 + 640 = 3,840 คิว
(3) ค่าใช้จ่ายถมดินโดยประมาณ
เช่น พื้นที่ระแวกนั้นคิดที่คิวละ 250-350 บาท ดังนั้น ค่าถมพร้อมบดอัดโดยประมาณ 3,840 x 250 = 960,000 บาท ซึ่งผู้รับเหมาคิดราคาเป็นคัน รถ 6 ล้อ (3-5คิว) รถ 10 ล้อ (10-15คิว) ส่งผลให้เรทราคาของรถสองประเภทแตกต่างกัน เช่น ใช้รถ 6 ล้อในกรณีที่ขนได้ 3 คิว/เที่ยว ได้แก่ 3,200/3 = 1,067 คัน แล้วหลังจากนั้นนำไปตูณกับค่าใช้จ่ายต่อคัน
เมื่อเราต้องการถมดิน ก่อนอื่นต้องทราบถึงความต้องการของตัวเราก่อนว่านำไปใช้เพื่อจุดประสงค์ไหน ขนาดความสูงเท่าไหร่ หลังจากนั้นจึงปรึกษาและสอบถามราคากับผู้รับเหมา ว่าดินชนิดที่ต้องการมีเรทราคาสูงหรือไม่ แล้วในกรณีถมดินแบบนับเที่ยวคิดดินคันละเท่าไหร่ จึงนำมาคำนวณตัวเลขตามลำดับกับปริมาณดินที่ใช้ในการถม x ราคา = ค่าใช้จ่ายโดยประมาณในการถมที่ดิน ที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริง ซึ่งเป็นอีกเรื่องที่สำคัญอย่างมาก เพราะถือเป็นการควรคำนวณรายจ่ายเบื้องต้นก่อน เพื่อเตรียมค่าใช้จ่าย และหมุนเงินให้ทันนั่นเอง