รวมวิธีตรวจสอบโฉนดที่ดิน ชื่อเจ้าของ เทคนิคก่อนซื้อ-ขาย อัปเดตปี 2023
หลายคนที่กำลังมองหาที่ดินทำเลดีเตรียมเปิดธุรกิจหรือมองหาทรัพย์นำไปลงทุน เมื่อได้เห็นที่ดินเปล่าสักผืน ตั้งอยู่บนสภาพแวดล้อมที่ดี มีบรรยากาศและทำเลที่ถูกใจ อยากตรวจสอบโฉนดที่ดิน ชื่อเจ้าของ ขนาดเนื้อที่และรายละเอียดอื่น ๆ สาระอสังหา บอกวิธีตรวจสอบข้อมูลบนช่องทางออนไลน์ง่าย ๆ ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ อ่านบาทความวันนี้เพื่อสร้างความเข้าใจแล้วรีบคว้าโอกาสจับจองที่ดินทำเลทอง
วิธีตรวจสอบโฉนดที่ดิน ชื่อเจ้าของ ผ่านช่องทางออนไลน์
วิธีที่ 1 ตรวจสอบผ่านแอปพลิเคชัน LandsMaps
- เลือก App Store เพื่อดาวน์โหลดบนมือถือระบบ IOS หรือเลือก Play Store เพื่อดาวน์โหลดบนมือถือระบบ Addroid และค้นหาแอปพลิเคชัน ‘LandsMaps’ เพื่อทำการติดตั้ง
- เลือกเมนู ‘เข้าสู่ระบบ’ แล้วเลือกกดที่ ‘สมัครสมาชิก’ โดยกรอกบัญชีผู้ใช้ (Username) และตั้งค่ารหัสผ่าน
- กรอกอีเมลและเข้าสู่ระบบเพื่อใช้งาน
- ในกรณีที่ไม่ทราบรายละเอียดของที่ดิน กดเลือกเมนูซ้ายมือ ‘ค้นหาสถานที่สำคัญ’
- ระบุสถานที่สำคัญใกล้เคียงกับที่ดินผืนที่ต้องการทราบรายละเอียด
- เลือกเมนูด้านซ้ายมือ กดที่ ‘แผนที่ดาวเทียม’ เลื่อนดูที่ดินที่ต้องการทราบรายละเอียด หลังจากนั้นสัมผัสค้างบนหน้าจอเลือก ‘ตกลง’ เพื่อค้นหาข้อมูลจากตำแหน่งที่เลือก
- นำข้อมูลที่ได้นี้ ตรวจสอบโฉนดที่ดิน ชื่อเจ้าของ ที่อยู่กับเจ้าพนักงาน ณ กรมที่ดินต่อไป
หมายเหตุ : สามารถเลือกดูที่ดินแปลงอื่น ๆ ได้โดยใช้วิธีการค้นหาแบบเดียวกัน และยังสามารถกดบันทึกที่ดินแปลงนั้น ๆ ได้จากเมนูบันทึกมุมขวาล่างบนหน้าจอโทรศัพท์ (หน้าแสดงผลข้อมูลที่ดิน)
ปัจจุบัน LandsMaps กลายเป็นหนึ่งในฟังก์ชันของ แอปพลิเคชัน “SmartLands” แอปฯ ที่กรมที่ดินได้ออกแบบให้การทำธุรกรรมเกี่ยวกับที่ดินเป็นเรื่องง่าย ประหยัดเวลาและไม่ยุ่งยาก “smartlands” แอปพลิเคชันที่สร้างมาเพื่อให้ประชาชนได้มีสิทธิเข้าถึงบริการเกี่ยวกับที่ดินทุกประเภท โดยใช้งานผ่านมือถือ ซึ่งเป็นวิธีการพัฒนามาอย่างทันสมัย สามารถตอบโจทย์ได้ทุกมิติ ทุกช่วงวัย หรือหากใครสะดวกเดินทางไปยังสำนักงานกรมที่ดินก็ยังสามารถทำได้เช่นดิม
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “SMARTLANDS”
- Android : http://bit.ly/3wJwdkP
- iOS : https://apple.co/3HKaaku
วิธีที่ 2 ตรวจสอบผ่านเว็บไซต์กรมที่ดิน
- พิมพ์ค้นหาที่ Google ว่า ‘ค้นหารูปแปลงที่ดิน’ หรือคลิกที่ลิงก์ https://landsmaps.dol.go.th/
- พิมพ์ค้นหาสถานที่สำคัญใกล้เคียงกับที่ดินผืนที่ต้องการทราบรายละเอียด
- เลื่อนดูที่ดินผืนที่ต้องการทราบรายละเอียด หลังจากนั้นดับเบิลคลิกบนที่ดินผืนนั้น ๆ
- หน้าจอแสดงผลข้อมูลของที่ดิน เช่น เลขโฉนดที่ดิน เนื้อที่ ราคาประเมินที่ดิน ข้อมูลสำนักงานที่ดิน ฯลฯ
- ทำการบันทึกหน้าจอแสดงผลรายละเอียดที่ดินผืน หลังจากนั้นนำไปคัดสำเนาโฉนดที่ดินกับเจ้าพนักงาน ณ กรมที่ดิน เพื่อตรวจสอบโฉนดที่ดิน ชื่อเจ้าของ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ (ข้อมูลสำหรับการติดต่อสอบถามหรือซื้อขาย)
หมายเหตุ : หากเว็บเบราว์เซอร์ไม่เสถียร สามารถเปลี่ยนมาใช้ Microsoft Edge
3 เทคนิคตรวจสอบโฉนดที่ดินด้วยตัวเอง ศึกษาและทำความเข้าใจก่อนซื้อ-ขาย
1.ทราบประเภท การใช้ประโยชน์ ขนาดเนื้อที่และชื่อผู้ถือครองกรรมสิทธิ์โฉนดที่ดิน
น.ส.4 (ครุฑแดง) ซื้อ-ขายได้ เป็นประเภทที่อยู่อาศัยในกรุงเทพและปริมณฑล รวมถึงต่างจังหวัด เป็นเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์การปกครอง 100% และเป็นเจ้าของที่สามารถทำการซื้อ-ขายได้ จดจำนองได้ไม่มีข้อกำหนด (คอนโดเป็นอ.ช.2 ระบุรายละเอียดที่ดิน ชื่อโครงการ เอกสารสิทธิ์ระบุห้อง/ชั้น เนื้อที่และรูปแบบห้อง สามารถซื้อ-ขายได้เช่นกัน)
น.ส.3ก (ครุฑเขียว) ซื้อ-ขายได้ ไม่ถือว่าเป็นโฉนดที่ดิน แต่เป็นเอกสารแสดงสิทธิ์การใช้ประโยชน์ ซึ่งหมายความว่าเราไม่ใช่เจ้าของ เพียงแต่เป็นผู้ที่ใช้ประโยชน์บนที่ดินเท่านั้น เช่น การทำฟาร์ม ทำสวน เป็นต้น สามารถซื้อ-ขาย แลกเปลี่ยน เข้าธนาคารได้ แต่มีข้อแม้ว่าต้องเป็นที่ดินที่ไม่ทับซ้อนพื้นที่ป่าและพื้นที่ต่าง ๆ ทางราชการ
น.ส.3 (ครุฑสีดำ) ซื้อ-ขายได้ คล้ายกับ น.ส.3ก. มีจุดประสงค์ไว้ใช้ทำการเกษตรกรรมโดยเฉพาะ แสดงสิทธิ์การใช้ประโยชน์ (ไม่ได้เป็นเจ้าของ) แตกต่างกับน.ส.3ก. ตรงที่ น.ส.3 ไม่มีการระวางและปักหมุดอย่างชัดเจน ขนาดที่ดินไม่ชัดเจน ทำการหยาบ ๆ เพราะพื้นที่ป่าเยอะ ที่ดินส่วนมากให้ทำการเกษตร ดังนั้น เมื่อไม่ได้เป็นเจ้าของก็ไม่ต้องทำอะไรมาก สามารถซื้อ-ขาย แลกเปลี่ยนได้ แต่ต้องมีการรังวัดและรอประกาศจากทางราชการภายใน 30 วัน ยืนยันว่าสามารถซื้อ-ขายได้
ส.ป.ก. 4-01 ซื้อ-ขายไม่ได้ เป็นที่ดินของทางรัฐมอบให้เกษตรกร เพื่อเป็นแหล่งรายได้ทำมาหากิน เพื่อผู้ที่มีรายได้น้อยนำไปประกอบอาชีพเกตรกรรมเท่านั้น ได้สิทธิ์การใช้ประโยชน์ทางเศรษกิจเท่านั้น (สามารถส่งทอดเป็นมรดกต่อไปได้) และที่สำคญไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นโฉนดประเภทอื่นได้
หมายเหตุ : ตรวจสอบโฉนดที่ดิน ชื่อเจ้าของ เลขโฉนดและดูขนาดของเนื้อที่ แปลง ไร่ งาน ตามระบุบนโฉนดว่าถูกต้องตามสัญญา ชื่อตรงกับผู้ขายหรือไม่ (หากติดจำนองต้องให้ผู้ขายชี้แจงข้อมูล)
2.นำสำเนาโฉนดที่ดินตรวจสอบ ณ กรมที่ดิน เพื่อขอคัดสำเนาโฉนด
เอกสารที่ต้องเตรียมได้แก่ บัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ที่จะขอ สำเนาโฉนดที่ต้องการขอคัดสำเนา สอบถามเจ้าหน้าที่แผนกประชาสัมพันธ์เพื่อตรวจสอบโฉนดที่ดิน ชื่อเจ้าของคนสุดท้าย ข้อมูลที่ได้ถูกต้องหรือไม่เมื่อเทียบกับสัญญาจะซื้อจะขาย หรือติดจำนองกับใคร
3.ตรวจสอบรูปแปลงที่ดิน
สามารถตรวจสอบผ่านระบบออนไลน์ได้ 2 วิธี คือ แอปพลิเคชัน LandsMap และเว็บไซต์กรมที่ดินจากข้อมูลข้างต้นที่ได้อธิบายไปก่อนหน้านี้ ซึ่งก็ถือเป็นวิธีประเมินเบื้องต้นก่อนทำการซื้อ-ขายได้
ไม่ว่าเหตุผลของความสนใจในที่ดินแปลงใดแปลงหนึ่งจะเกิดจากการพบเจอด้วยตัวเองหรือมีการเสนอขายจากนายหน้าที่ดิน แต่เพื่อสร้างความมั่นใจและสนับสนุนความกล้าลงทุนของตัวเอง ก็สามารถตรวจดูข้อมูลเบื้องต้นก่อนทำการซื้อ-ขาย โดยเช็กผ่านช่องทางออนไลน์ง่าย ๆ ได้เทียบรายละเอียดต่าง ๆ จากการนำเสนอขายและประเภทที่ดินเพื่อการใช้ประโยชน์ ซึ่งเหตุผลนี้ก็ถือเป็นปัจจัยหลักที่ตัวผู้ซื้อต้องเก็บมาพิจารณาอย่างรอบคอบเช่นกัน