top

รอบรู้เรื่องอสังหาฯ

รอบรู้เรื่องอสังหาฯ รอบรู้เรื่องที่ดิน ข้อควรรู้ วิธีจำนองที่ดินกับธนาคาร พร้อมดาวน์โหลดเอกสารได้ที่นี่ !
จำนองที่ดินกับธนาคาร

การจำนองที่ดิน คือ การนำทรัพย์สินหรือที่ดินไปวางเป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงิน โดยใช้ทรัพย์สินนั้นเป็นหลักประกันในการชำระหนี้และดอกเบี้ยให้กับผู้รับจำนอง (ตามกำหนดระยะเวลาในสัญญาจำนองที่ดิน) กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินหรือที่ดินยังเป็นของเจ้าของทรัพย์อยู่ ถ้าหากเกิดการเบี้ยวนัด ผิดชำระหนี้ขึ้นมา ผู้รับจำนองสามารถทำการฟ้องร้องต่อศาลเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายได้ตามกฎหมาย

การจำนองที่ดินส่วนใหญ่ผู้คนมักนำที่ดินไปใช้เป็นหลักประกันในการกู้เงินและชำระหนี้กับทางธนาคาร ซึ่งการจำนองกับธนาคารนั้น เจ้าของที่ดินไม่ต้องส่งทรัพย์ให้กับผู้รับจำนอง แล้วยังคงมีสิทธิใช้ประโยชน์ในทรัพย์ของตนเองอยู่ แต่ถ้าหากเจ้าของที่ดินหรือผู้ที่ขอจำนองที่ดินมีการผิดสัญญากับทางธนาคาร จ่ายค่างวดล่าช้า จ่ายไม่ตรงกับวัน-เวลาที่กำหนด ธนาคารมีสิทธิยึดที่ดินเพื่อนำไปขายทอดตลาดได้ ซึ่งเรียกว่า “วงจรการจำนอง” มีรายละเอียดและขั้นตอนหลากหลาย สาระอสังหา พามาทำความรู้จักการจำนองที่ดิน เพื่อใช้ทรัพย์อสังหาฯ หมุนเงินก้อนใหญ่และใช้ได้เกิดประโยชน์สูงสุด

คุณสมบัติของผู้ยื่นจำนองที่ดินกับทางธนาคาร

รายละเอียดการยื่นจำนองของแต่ละธนาคารจะมีความแตกต่างกันไป แต่สิ่งที่เหมือนกันคือคุณสมัติของผู้ขอยื่นจำนองที่ดิน ได้แก่

  1. ถือสัญญาชาติไทย
  2. มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์
  3. มีรายได้ต่อเดือนตั้งแต่ 15,000 บาทขึ้นไป (อายุการทำงานไม่น้อยกว่า 6 เดือน)
  4. ผู้ที่ประกอบธุรกิจส่วนตัว ต้องดำเนินกิจการนั้นมาแล้วไม่ต่ำกว่า 1 ปี มีรายได้ที่มั่นคงและตรวจสอบได้

ค่าใช้จ่ายในการจำนองที่ดิน มีอะไรบ้าง?

รายละเอียดข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์กรมที่ดิน ได้แก่

  1. ค่าธรรมเนียมจดทะเบียน 1% ของวงเงินที่ใช้ในการจำนองแต่จะต้องไม่เกิน 200,000 บาท
  2. ค่าธรรมเนียมการจดคำขอที่ดินแปลงละ 5 บาท
  3. ค่าภาษีอากรแสตมป์ คิดจากวงเงินจำนองที่ดินทุก ๆ 2,000 บาทจะเสียค่าอากรแสตมป์ 1 บาท (สามารถทบไปได้ไม่เกิน 10,000 บาท)
  4. กรณีที่มีการไถ่ถอนที่ดิน จะมีค่าธรรมเนียมโฉนดละ 75 บาท

เอกสารสำคัญที่ต้องใช้ มีอะไรบ้าง?

เมื่อทราบคุณสมบัติและค่าใช้จ่ายแล้ว ต่อมาสาระอสังหา พามาทราบขั้นตอนการจำนองที่ดินทั้ง 5 ขั้นตอน ดังนี้

  1. เอกสารแบบฟอร์มการขอสินเชื่อ (ขอแบบฟอร์มากรอกหรือดาวน์โหลดจากเว็บไซต์ธนาคาร)
  2. เอกสารสำเนาบัตรประชาชน (เซ็นสำเนาถูกต้อง ประทับวันที่และจุดประสงค์ให้เรียบร้อย)
  3. เอกสารสำเนาทะเบียนบ้าน (เซ็นสำเนาถูกต้อง ประทับวันที่และจุดประสงค์ให้เรียบร้อย)
  4. หนังสือรับรองเงินเดือน Statement ย้อนหลัง 3-6 เดือน กรณีทำธุรกิจส่วนตัวต้องเพิ่มเอกสารสำเนาทะเบียนการค้าหรือหนังสือรับรองการจดนิติบุคคล (หากมีรายได้หรือทรัพย์สินอื่น ๆ สามารถแนบเพิ่มเติมได้)
  5. สำเนาโฉนดที่ดิน (ครุฑเขียว) น.ส.3, น.ส.3 ก หรือหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ พร้อมสารบัญจดทะเบียนทุกหน้า
  6. สำเนาหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดิน (ท.ด.13)

ขั้นตอนการจำนองที่ดินร่วมกับธนาคาร ณ กรมที่ดิน

  1. ธนาคารจะประเมินจากราคากลางในตลาดหรือประเมินจากปัจจัยภายในตัวที่ดิน แล้วนำสองส่วนนี้มาหาราคาที่เป็นกลางมากที่สุด ซึ่งยอดเงินที่เราจะได้รับ คือ ราคาประเมินที่ดิน การประเมินจากต้นทุนการก่อสร้าง และค่าเสื่อมสภาพของทรัพย์ค้ำประกัน
  2. รายได้ของผู้กู้และยอดหนี้ต้องมีความสัมพันธ์กัน
  3. หลังจากมีการประเมินแล้ว ธนาคารจะมีการแจ้งผลการยื่นจำนองที่ดินให้กับผู้ขอยื่นจำนองได้ทราบ ว่ามีการอนุมัติหรือไม่ วงเงินและอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่จำนวนเท่าไหร่ ระยะเวลาผ่อนชำระมาก-น้อยแค่ไหน ซึ่งธนาคารจะพิจารณาโดยคำนึงถึงหลาย ๆ ปัจจัยอ้างอิงจากประวัติส่วนตัว ที่ต้องสอดคล้องกับผู้กู้และหลักประกันด้วย (ที่ดิน)
  4. ทำสัญญาจดจำนองที่ดิน ณ กรมที่ดิน โดยขั้นตอนนี้ธนาคารจะเป็นผู้กำหนดวัน-เวลา นัดผู้ขอจำนองไปที่กรมที่ดิน ซึ่งขั้นตอนต่าง ๆ จะดำเนินการตามขั้นตอนของเจ้าพนักงานกรมที่ดิน โดยมีผู้ทำสัญญาประกอบด้วยฝ่ายธนาคาร (สถานะผู้รับจำนอง) และตัวเรา (สถานะเป็นผู้ขอจำนองที่ดิน) พร้อมพยานร่วมอีก 1 คน เจ้าพนักงานกรมที่ดิน ผู้เขียนสัญญา ผู้ตรวจสัญญา

หมายเหตุ : ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนไหน เราในฐานะผู้ขอจำนองต้องรักษาสิทธิด้วยการอ่านรายละเอียดอย่างรอบคอบ และซักถามเมื่อเกิดข้อสงสัย

แบบฟอร์มหนังสือสัญญาจำนองที่ดินจากกรมที่ดิน พร้อมดาวน์โหลดได้ที่นี่

ดาวน์โหลดแบบฟอร์มหนังสือสัญญาจำนองที่ดิน

ตัวอย่างหนังสือสัญญาจำนองที่ดิน จากกรมที่ดิน ดาวน์โหลดคลิก!

และทั้งหมดนี้คือรายละเอียดและขั้นตอนการยื่นขอจดจำนองที่ดินกับทางธนาคาร ซึ่งการทำธุรกรรมลักษณะนี้ ถือเป็นการนำทรัพย์สินของตนเองไปเป็นหลักค้ำประกันเพื่อได้เงินก้อนใหญ่มาหมุนใช้ แต่อย่างไรก็ตามควรระวังในเรื่องสิทธิการใช้ประโยชน์ในทรัพย์ หากผิดสัญญา ผิดนัดชำระหนี้ ก็มีโอกาสที่เราจะเสียทรัพย์ไปได้เช่นกัน และที่สำคัญไม่ลืมอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับดอกเบี้ยบ้านและระยะเวลาผ่อนชำระว่าสอดคล้องกับความสามารถในการผ่อนของเราหรือไม่ เพื่อไม่ให้หนักจนเกินไป

 

หมวดหมู่