5 ขั้นตอนการสร้างบ้าน (เรียงตามโครงสร้าง) อยากได้บ้านสวยต้องรู้ทันช่าง
การสร้างบ้านหนึ่งหลังถือเป็นความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ของเจ้าของบ้านเลยก็ว่าได้ ไม่ว่าจะทั้งเรื่องการดำเนินธุรกรรม การยื่นขอสินเชื่อ การเช็กดอกเบี้ยบ้าน การดำเนินการต่าง ๆ ระหว่างเจ้าหน้าที่ ณ กรมที่ดิน ซึ่งมีอีกเรื่องที่ขาดไม่ได้และเป็นเรื่องที่คนอยากปลูกสร้างบ้านต้องทราบและทำความเข้าใจ คือ ขั้นตอนการสร้างบ้าน ที่ถึงแม้ว่าเราจะมีผู้รับเหมา บริษัทรับสร้างบ้านหรือวิศวกรมือดีคอยช่วยให้คำปรึกษา แต่หากตัวเราในฐานะเจ้าของบ้านไม่ทราบถึงกระบวนการ การสื่อสารกันก็ยากขึ้น งานที่ออกมาก็อาจไม่สมบูรณ์แบบ เพราะฉะนั้นนี่จึงเป็นหัวข้อสำคัญที่สาระอสังหาจะบอกเล่าในวันนี้ เพื่อเป็นความรู้รอบตัวและป้องกันการเอารัดเอาเปรียบจากช่างหรือผู้รับเหมา
5 ขั้นตอนการสร้างบ้าน (เรียงลำดับตามโครงสร้าง) อยากให้บ้านสมบูรณ์แบบต้องทำความเข้าใจ
ขั้นตอนที่ 1 : เตรียมความพร้อมก่อนก่อสร้าง
- ตรวจสอบระดับดิน
- เตรียมไฟฟ้า-ประปา (ชั่วคราว)
- เตรียมที่พักคนงานและพื้นที่เก็บวัสดุ
- ตรวจสอบระยะร่นให้ถูกต้องตามเทศบัญญัติ
- กำหนดขนาดอาคารให้เป็นไปตามที่ต้องการ
หมายเหตุ : ทำให้เรารู้ว่าผู้รับเหมามีความพร้อมในการเคลียร์พื้นที่และจัดเตรียมงานมากหรือน้อย มีความกระตือรือร้น มีความเป็นมืออาชีพและกระฉับกระเฉงต่องานที่ได้รับมอบหมายมากเพียงใด ทั้งนี้ต้องอ้างอิงถึงสัญญาการจ้างด้วยว่ามีการจ้างผู้รับเหมาช่วงด้วยหรือไม่ การเตรียมไฟฟ้า-น้ำประปาเป็นหน้าที่ของใคร (ระหว่างผู้รับเหมากับเจ้าของบ้าน)
ขั้นตอนที่ 2 : ตอกหรือเจาะเสาเข็ม
- ทดสอบดิน ตีผัง ปักหมุด
- ดำเนินการตอก (เจาะ) เสาเข็มตามผังเสาเข็มที่วางไว้
- ทีมงานเก็บข้อมูลทางวิศวกรรม ดูกำลังรับน้ำหนักเสาเข็มตอกหรือดูความลึกของเสาเข็มเจาะ
- เสาเข็มตอกทุกต้น ต้องมีผู้ควบคุมและตรวจสอบให้มั่นใจว่ามีความแข็งแรงตามที่วิศวกรกำหนด
- ส่วนเสาเข็มเจาะจะต้องมีการตรวจสอบความสมบูรณ์ของเสาเข็มด้วยวิธี SEISMIC TEST ทุกต้น
- เสาเข็มตอก ราคาถูกกว่า ตรวจสอบความแข็งแรงและความสมบูรณ์ได้ง่าย ส่วนเสาเข็มเจาะ ราคาสูงกว่า (ใช้กรณีทางเข้าแคบ) ปกติกฏหมายไม่อนุญาตให้ใช้เสาเข็มตอกเพราะอาจกระทบกับพื้นที่ข้างเคียงได้
หมายเหตุ : ขั้นตอนนี้สามารถทำได้ก่อน เพื่อนำข้อมูลให้ทางวิศวกรออกแบบ ส่วนตีผัง ปักหมุด ปัจจุบันใช้กล้องเซอร์เวย์เข้ามาช่วย เมื่อได้ตำแหน่งของหมุดแล้วจะเป็นงานของเสาเข็มแบบเจาะ-หล่ออาจต้องมีระยะบ่มเสาเข็มด้วย หรือหากเป็นเสาเข็มแบบตอกสามารถทำงานขุดหลุมได้
ขั้นตอนที่ 3 : งานโครงสร้าง
- เทฐานราก
- หล่อคอนกรีต เสา คาน ชั้นล่าง
- ติดตั้งท่อน้ำยากำจัดปลวก (ติดตั้งเมื่อหล่อคานชั้นล่างเสร็จก่อนเทพื้นชั้นล่าง)
- เทพื้นชั้นล่าง
- เทพื้นชั้นบน
- หล่อคอนกรีต เสา คาน ชั้นบน
- ติดตั้งโครสร้างหลังคาเหล็ก
- งานโครงสร้างบันได
หมายเหตุ : งานฐานราก สิ่งที่ต้องเตรียมคือ เหล็ก จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมหน้างาน หิน ปูน ทราย สำหรับงานขุดบ่อหากมีพื้นที่เยอะอาจขุดทีหลัง (แต่หากมีพื้นที่แคบควรขุดไว้ก่อนเพราะรถแบกโฮเข้ามาทำงานได้สะดวก) หลังจากมีการตรวจสอบแบบและหล่อคอนกรีตเรียบร้อยแล้ว ต่อมาเป็นส่วนของการเดินท่อประปา สุขาภิบาล และท่อปลวก (อาจเลือกใช้วิธีราดน้ำยาแทนได้)
ขั้นตอนที่ 4 : งานสถาปัตยกรรมและงานระบบ
- ติดตั้งแผ่นสะท้อนความร้อน
- มุงหลังคา
- ติดตั้งเชิงชาย
- วางแนวผนัง วัดระยะห้องก่อนเริ่มงานต่อไป
- ติดตั้งวงกบไม้ก่ออิฐ
- ติดตั้งระบบไฟฟ้า เดินสายไฟ ร้อยท่อผังผนัง ก่ออิฐ
- ติดตั้งท้อระบบประปาและสุขาภิบาล
- ติดตั้งระบบสื่อสารและระบบกันขโมย หรือระบบอื่น ๆ
- ฉาบปูน
- เตรียมผิวปูนฉาบก่อนทาสีอาจใช้สีรองพื้น (SKIM COAT)
- ติดตั้งวงกบประตูหน้าต่าง
- ติดตั้งฝ้าเพดาน ทำช่อง SERVICE
- ติดตั้งสวิทซ์ ปลั๊ก ตู้เบรกเกอร์
- ปูวัสดุแต่งพื้น เช่น ปาร์เก้, พื้นแกรนิต, กระเบื้อง
- ปูวัสดุตกแต่งพื้นผิวและผนังห้องน้ำ
- ติดตั้งสุขภัณฑ์
- ติดตั้งประตู-หน้าต่าง
- ทาสีจริงภายใน-ภายนอก โดยผนังต้องแห้งและสะอาด
- ติดตั้งโคมไฟ
- ติดตั้งถังบำบัดน้ำเสียและท่อระบายน้ำ
- ตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ของงานไฟฟ้า โดยแจ้งการไฟฟ้ามาตรวจสอบอีกครั้งก่อนเดินสายไฟเชื่อมต่อมิเตอร์ไฟฟ้า
- ทำความสะอาดรอรับมอบงาน
หมายเหตุ : ชั้น 1 ขั้นตอนอาจสลับกันได้ ผู้รับเหมาหรือช่างบางเจ้าถนัดหล่อเสาก่อนแล้วค่อยมาหล่อพื้น (สลับลำดับและดำเนินแผนตามความถนัดได้) เนื่องด้วยว่าเป็นอาคารขนาดเล็กจึงไม่เกิดผลกระทบอะไรมาก (อาคารขนาดใหญ่ลำดับขั้นตอนการสร้างบ้านให้เป็นไปตามวิศวกรกำหนด) หรือหากบ้านมีขนาดมากกว่า 1 ชั้น เมื่อหล่อเสาเสร็จได้ระยะบ่ม เริ่มตั้งไม้เพื่อใช้ทำคานชั้น 2 ก็สามารถทำคาน พื้น เสา ต่อไปเรื่อย ๆ ได้
โครงหลังคา เชิงชาย มุงหลังคา ในขั้นตอนนี้พอขึ้นงานโครงหลังคา ส่วนมากจะทำควบคู่กันกับงานก่อผนัง หากผู้รับเหมามีจำนวนบุคลากรหรือช่างคนงานเยอะก็สามารถทำควบคู่กันไปได้ ซึ่งช่วงแรกที่ไม่สามารถทำขนานกันได้เป็นเพราะอยู่ในหมวดของงานโครงสร้าง จะต้องทำตามลำดับข้นตอน และในส่วนของหลังคาจะประกอบไปด้วยโครงหลังคา ปิดเชิงชาย ตกแต่งกรอบ ยิงแผ่นหลังคา และมุงหลังคา
ก่อผนัง ฝังท่อไฟ จับเซี้ยม ฉาบ วงกบไม้สามารถฝังเข้าไปได้เลย กรีดผนังฝังท่อไฟ พอทุกอย่างเรียบร้อยแล้วจะต่อด้วยการจับเซี้ยม (ขอบ จับมุม จับกลุ่ม เพื่อให้ได้ระดับ แนวในการฉาบ)
ฝ้า ร้อยสายไฟ ขัดผนัง สีรองพื้น เมื่อขัดเสร็จแล้วก็จะเข้ามาในส่วนของโครงฝ้า ช่างไฟจะทำการร้อยสายไฟต่อ เตรียมรอตามจุดต่าง ๆ ที่ได้ออกบบบไว้ และในขณะที่ช่างทำฝ้าเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะทำการขัดผนังในส่วนที่ไม่เรียบ มีหิน ทราย ขัดให้เรียบ และทำการลงสีรองพื้น (จำเป็นต้องทำเพราะการทาสีจะไม่เรียบสวย และห็นเป็นเม็ดทรายได้ชัด)
กระเบื้องผนัง กระเบื้องพื้น บัวพื้น บัวหน้าต่าง ผู้รับเหมาบางเจ้าอาจทำการปูผนังเสร็จก่อนแล้วค่อยเดินฝ้า หรือเดินฝ้าก่อนแล้วปูผนังก็ได้ ในกรณีติดวงกบแบบแห้งก็สามารถติดตั้งวงกบปิดแห้งก่อนแล้วทำการปูกระเบื้องพื้นตามมาได้ พอปูกระเบื้องเสร็จก็ะเป็นส่วนของบัวพื้นและบัวผนัง
กระจกอลูมิเนียม ประตู สี อุปกรณ์ไฟฟ้า อุปกรณ์ห้องน้ำ จะมีการติดตั้งกระจกหน้าต่าง กระจกอลูมิเนียม เพราะว่าได้ขอบ ได้มุมที่ชัดเจนแล้ว และในส่วนของงานประตูห้องต่าง ๆ ทั้งหมด ลูกบิด ทาสีจริง และอุปกรณ์ไฟฟ้า สุขภัณฑ์ อ่างล่างหน้า ฝักบัวทั้งหมด
ขั้นตอนที่ 5 : ตรวจรับมอบบ้าน ตรวจสอบความเรียบร้อยของงานสถาปัตยกรรม รวมทั้งไฟฟ้า-ระบบน้ำ
ในข้อสุดท้ายนี้ คือ งานตรวจสอบความเรียบร้อยของระบบทั้งหมดก่อนจะทำการเซ็นรับบ้าน ซึ่งผู้รับเหมาต้องทำการตรวจสอบระดับหนึ่ง ลง QC ก่อนทั้งหมด และเชิญทางเจ้าของบ้านมาตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง เพื่อทำการแก้ไข QC รอบที่สองแล้วจึงทำการส่งมอบบ้าน
ความรู้เรื่องของลำดับการก่อสร้างเช่นนี้ เป็นเรื่องที่ไม่ยากเหนือกว่าแรง เจ้าของบ้านควรทราบเพราะถือเป็นฐานรากเบื้องต้น เมื่อทราบรายละเอียดต่าง ๆ ก็สามารถกำหนดขั้นตอนการสร้างบ้านและเข้าใจกระบวนการก่อสร้างบ้านมากขึ้น สื่อสารกับช่างได้ เจรจากันอย่างเข้าใจ เพื่อบ้านที่ออกมาสมบูรณ์แบบตามที่คาดหวังนั่นเอง