ยื่นขออนุญาตก่อสร้าง ขั้นตอนและเอกสารที่เจ้าของบ้านควรรู้!
การปลูกสร้างบ้านหนึ่งหลังที่กรรมสิทธิ์เป็นชื่อของตัวเราเอง ถือเป็นความฝันของใครหลาย ๆ คน ต้องใช้ทั้งเงินและเวลากว่าจะได้ทรัพย์ชิ้นใหญ่มาต้องแลกด้วยความอดทน การเริ่มต้นลงมือนอกจากจะให้ความสำคัญกับการยื่นกู้แล้ว อีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน เรื่องการขออนุญาตก่อสร้างบ้าน อาคาร หากส่วนนี้ไม่ผ่าน เอกสารการยื่นกู้ก็ไม่สมบูรณ์เช่นกัน สาระอสังหา อธิบายถึงความสำคัญการขออนุญาตก่อสร้าง เตรียมเอกสารและขั้นตอนดำเนินการ เพื่อสร้างความเข้าใจ ลดความยุ่งยากสำหรับผู้ที่ไม่รู้จะโฟกัสจุดไหนก่อนดี ไขข้อสงสัยสำหรับผู้ที่ไม่ได้ยื่นกู้สร้างบ้านยังต้องยื่นขออนุญาตอยู่หรือไม่
ความสำคัญของการขออนุญาตก่อสร้าง
ผู้ที่สร้างบ้านสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ (1) กลุ่มที่สร้างบ้านด้วยเงินสด การขออนุญาตก่อสร้างจะสำคัญในกระบวนการยื่นขอทะเบียนบ้าน และขอมิเตอร์ไฟฟ้า ขอน้ำประปา ขอเปลี่ยนมิเตอร์ชั่วคราวเป็นมิเตอร์ถาวร เมื่อบ้านมีน้ำ – ไฟฟ้าเข้าถึง มีทะเบียนบ้าน เลขที่บ้าน ก็จะกลายเป็นทะเบียนสำมะโนประชากรของพื้นที่นั้น ๆ
(2) กลุ่มที่สองคือผู้ที่กู้ซื้อบ้าน กู้ปลูกสร้าง ใบขออนุญาตก่อสร้างจะนับเป็นเอกสารประกอบการยื่นกู้ ถือเป็นจุดเปลี่ยนของกระบวนการกู้เพื่อสร้าง (มีผลต่อการประเมินธนาคารเพื่อจ่ายยอดเงิน) หากใบขออนุญาตก่อสร้างยังไม่ผ่านการอนุมัติ ขั้นตอนการยื่นกู้จำเป็นต้องหยุดชะงักไปตามกัน เอกสารค่อนข้างเยอะ หลายคนเทียวส่งเอกสารเพิ่มเติมอยู่หลาย ๆ ครั้ง
เตรียมเอกสารยื่นขออนุญาตก่อสร้างบ้าน อาคาร
- คำขออนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร (ข.1)
- เอกสารเพื่อการก่อสร้าง แบบแปลนบ้าน แบบบ้าน รายละเอียดการก่อสร้าง
- รายการคำนวณ หรือรายการที่วิศวกรคำนวณโครงสร้าง เสา เหล็ก ฯลฯ พร้อมกำกับลายเซ็นว่ารับรอง
- เอกสารของผู้ยื่นขออนุญาต สำเนาบัตรประชาชน สำเนาบ้านเลขที่ สำเนาโฉนดที่ดิน นส.3 ฯลฯ
- ขออนุญาตปลูกสร้างบนที่ดินเช่า ต้องใช้ใบยินยอมจากเจ้าของที่ดิน
- ขออนุญาตก่อสร้างในนามนิติบุคคลต้องมีหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท วัตถุประสงค์ พร้อมผู้มีอำนาจลงชื่อแทนนิติบุคคลผู้ขออนุญาตที่ออกให้ ไม่เกิน 6 เดือน
- กรณีมอบหมายให้บุคคลอื่นมาดำเนินการแทน ต้องมีหนังสือมอบอำนาจพร้อมสำเนาประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน
- กรณีที่การปลูกสร้างมีการใช้ส่วนใดส่วนหนึ่งของบ้าน/อาคารร่วมกันกับอาคารใกล้เคียง ต้องมีใบยินยอมจากเจ้าของบ้านหลังดังกล่าว
- กรณีที่ปลูกบ้านชิดกับที่ดินบ้านใกล้เคียง ต้องมีหนังสือยินยอมให้ปลูกอาคารชิดกับแนวเขตที่ดินของบ้านข้างเคียง
หมายเหตุ : จำเป็นต้องสอบถามเจ้าหน้าที่ว่าใช้เอกสารจำนวนกี่ชุด เพราะกฎหมายของแต่ละพื้นที่มีบางข้อที่แตกต่างกัน (ติดต่อแผนกโยธาของสำนักงานเขต)
ดาวน์โหลดใบขออนุญาตก่อสร้าง
ดาวน์โหลดใบขออนุญาตก่อสร้าง : คลิก
ค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต
- ใบอนุญาตก่อสร้าง ฉบับละ 20 บาท
- ใบอนุญาตดัดแปลง ฉบับละ 20 บาท
- ใบอนุญาตรื้อถอน ฉบับละ 10 บาท
- ใบอนุญาตเปลี่ยนการใช้ ฉบับละ 20 บาท
- ใบแทนใบอนุญาตหรือใบแทนใบรับรอง ฉบับละ 5 บาท
ขั้นตอนขออนุญาตก่อสร้าง
- ผู้ขออนุญาตก่อสร้าง เจ้าของบ้านหรือตัวแทนเดินทางไปเทศบาลหรืออบต. ในพื้นที่ปลูกบ้าน
- กองช่าง เจ้าหน้าที่ตรวจเอกสาร ตรวจสอบที่ดินพื้นที่ที่จะทำการก่อสร้าง ว่าตรงกับผังบริเวณหรือไม่
- ปลัด อบต. ลงนามให้ความเห็นชอบ
- นายก อบต. (เจ้าพนักงานท้องถิ่น) ลงนามอนุญาต
- เจ้าหน้าที่แจ้งเจ้าของบ้านให้มารับเอกสาร และจ่าค่าใบอนุญาต ค่าตรวจแบบ
- กองคลัง เจ้าหน้าที่จัดเก็บรายได้ ออกใบเสร็จค่าใบอนุญาต ค่าตรวจแบบ
- เจ้าของบ้านจะได้รับเอกสารคืน ได้แก่ แบบอ.1/หนังสือรับรองสิ่งปลูกสร้าง เอกสารที่ยื่นให้เจ้าหน้าที่ไปก่อนหน้า 1 ชุด และใบเสร็จรับเงิน
หมายเหตุ : ใบอนุญาตก่อสร้าง มีอายุ 1 ปี
การขออนุญาตสร้างบ้าน นอกจากเป็นสิ่งที่ควรทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย แล้วยังช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้อยู่อาศัย เจ้าของบ้านมั่นใจว่ารากฐานบ้านมั่นคง แต่ปัญหาจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนเมื่อบ้านที่กำลังสร้างยังไม่ได้ยื่นขออนุญาต หรือยื่นขออนุญาตไม่ผ่านแต่ยังดำเนินการสร้างต่อไป บ้านหรืออาคารอาจส่งผลกระทบกับเพื่อนบ้านหลังข้าง ๆ หรืออาจจะเป็นการต่อเติมรุกร้ำพื้นที่สาธารณะแบบไม่ได้ตั้งใจ ดังนั้น การขออนุญาตก่อสร้างจึงเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญต่อผู้อยู่อาศัยมาก ถือเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อความปลอดภัยของเราและการอยู่ร่วมกันในสังคม