5 จุดสังเกตการตรวจรับบ้านง่าย ๆ รู้ก่อน ซ่อมไว ได้บ้านสวย
หลายคนทำงานเก็บเงินกันมาแล้วเกือบครึ่งชีวิต ถึงจุดหนึ่งที่ต้องขยับขยาย วางแผนเป้าหมายครอบครัว ปีนี้ฤกษ์ดีมีแผน กู้ซื้อบ้าน บทความนี้สาระอสังหาจะมาบอกเล่าถึงเรื่องการตรวจรับบ้านด้วยตัวเองง่าย ๆ (ฉบับผู้ที่ไม่มีพื้นฐานทางวิศวกรรม) พร้อมทำความเข้าใจว่าการตรวจบ้านก็เปรียบเสมือนการตรวจรับผลงานของช่าง ซึ่งต้องเข้าใจว่าเมื่อไหร่ที่มีการทำงานเกี่ยวกับคนย่อมไม่ได้สมบูรณ์แบบ 100% เหมือนเครื่องจักร จึงได้แชร์เทคนิคการตรวจรับมอบบ้านด้วยตัวเอง เพราะหากเกิดปัญหาขึ้นเราต้องคุยกับผู้รับเหมาและเจ้าของโครงการว่าแบบไหนดี แบบไหนถึงเป็นจุดที่น่าพึงพอใจ มีอะไรต้องตรวจบ้าง เริ่มกันที่…
5 จุดสังเกตการตรวจรับบ้าน (ฉบับเจ้าของบ้านตรวจเอง) แบบไหนดี จุดไหนควรแก้ไข
1.การตรวจฝ้าและผนัง
มักเป็นปัญหาหลัก ๆ ที่พบเจอกันได้บ่อย เพราะหลังจากตกแต่งอาจเกิดรอยร้าวขนาดเล็ก – ใหญ่ได้ ทั้งยังต้องดูความเรียบของผิวผนังที่อาจทำให้เสียงก้องในบ้าน รวมถึงโทนสีบ้านผังด้านใน – นอกเป็นไปตามจุดประสงค์ของเจ้าบ้าน ซึ่งแน่นอนว่าเราต้องตรวจในฐานะผู้ซื้อของที่ต้องจ่ายเงิน หากมีตำหนิก็สามารถกำกับให้แก้ไข ซ่อมแซม ปรับเปลี่ยน และต่อมาในส่วนของฝ้าต้องตรวจเช็กตั้งแต่การเดินเส้นขอบว่าตรงหรือไม่ ฝ้ามีตกท้องช้างหรือไม่ (หลุดร่อน) สีฝ้ามีรอยหรือร่องรอยที่เกิดความเสียหายหรือไม่
2.การตรวจพื้น
ไม่ว่าห้องต่าง ๆ ภายในบ้านจะถูกใช้งานด้วยวัตถุประสงค์ไหน หรือปูด้วยวัสดุแบบไหน อาจเป็นกระเบื้องหรือไม้ ก็ต้องตรวจสอบให้ดี เช่น การตรวจพื้นกระเบื้องว่ามีความเรียบร้อยมาก – น้อยแค่ไหน ทางเดินมีลักษณะต่ำ – สูง เดินแล้วรู้สึกไม่สมดุล ซึ่งถ้าหากต้องการทราบว่าการปูพื้นแน่นได้มาตรฐานหรือไม่ เบื้องต้นสามารถใช้เหรียญเคาะเพื่อฟังเสียง ปรากฏเสียงทึบหมายความว่าพื้นแน่น ยาแนวไม่เสียหาย แต่หากโทนเสียงปรากฏในลักษณะก้อง ๆ เมื่อไหร่ เตรียมปรึกษากับช่างเพื่อแก้ไขปัญหาได้เลย (การตัดสินใจรื้อถือเป็นเรื่องใหญ่)
นอกจากนี้ยังต้องตรวจแนวกระเบื้อง ตรวจยาแนว หากใช้วัสดุไม้ ปาเก้ ไวนิลจำเป็นต้องตรวจดูความเรียบร้อย และเดินตรวจเช็กระดับของไม้ ต่ำ – ยุบลงไปหรือมีจุดที่อาจทำให้สะดุดได้หรือไม่ ทั้งนี้ต้องดูความเอียงและความสวยงามตามความพึงพอใจของเจ้าของบ้านประกอบด้วย
3.การตรวจประตู – หน้าต่าง
ประตูทุกบาน ควรตรวจสอบอย่างรอบคอบว่าสามารถเปิด – ปิดได้ง่าย ใช้งานได้ดี ไม่มีความบิดเบี้ยวหรือเสียงดังรบกวน และเมื่อเปิดใช้งานประตูทุกครั้งว่าปิดสนิทหรือไม่ ในส่วนของช่องใต้ประตูกว้างมากจนเกินไปทำให้แสงเข้ามารบกวนการอยู่อาศัย เสียงดังเข้ามากระทบกับการพักผ่อนมาก – น้อย รวมถึงเช็กกลอนประตูว่าใช้งานได้ปกติปลอดภัยต่อความเป็นส่วนตัว
ส่วนของหน้าต่างบ้านนั้น ก็ต้องทดลองใช้หลาย ๆ ครั้งอีกเช่นกัน ในเรื่องของการใช้งานที่ง่าย ฝืด เปิด – ปิดได้สะดวกไร้เสียงรบกวน (ควรติดตั้งพอดีกับวงกบ) หากเป็นกระจกหรือวัสดุน้ำหนักเบาต้องทดสองความแข็งแรงทนทาน การสั่นสะเทือนหรือแนวโน้มเสียหาย
4.การตรวจระบบไฟฟ้า
ทดสอบการเปิด – ปิดไฟทุกดวงในบ้าน โคมไฟตามทางเดิน – มุมห้องว่าชำรุดหรือใช้งานได้ปกติ มีลักษณะและรูปร่างตรงตามที่ต้องการ (โทนสี – วัตต์ไฟ) โดยการเปิดไฟในบ้านทุกดวงเพื่อตรวจเช็กความผิดปกติ (สวิทซ์และปลั๊กไฟภายนอกต้องมีหน้ากากกันน้ำและฝาครอบ) ตรวจเมนไฟฟ้าและระบบตัดไฟ ตู้ Consumer Unit มีขนาดเหมาะสมกับบ้านเราหรือไม่ ในส่วนของ Breaker มีขนาดสอดคล้องกับการใช้ไฟและอยู่ในสภาพสมบูรณ์พร้อมใช้งาน อีกทั้งจุดสัญญาณต่าง ๆ โทรทัศน์ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องต่อกับเต้าไฟ ทดลองใช้ว่าการเดินสายไฟสมบูรณ์หรือไม่ ไฟฟ้าเดินทางมาถึงจุดที่เครื่องใช้ไฟฟ้าตั้งอยู่หรือไม่
หมายเหตุ : เปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งบ้านเพื่อตรวจสอบว่ามีการตัดไฟหรือไฟไม่พอหรือไม่
5.การตรวจน้ำแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ น้ำประปาและท่อน้ำทิ้ง
5.1 น้ำประปา
เปิดก๊อกน้ำทุกพื้นที่ในบ้าน รวมถึงอ่างที่เป็นซิงค์ว่าน้ำรั่วซึมระหว่างเปิดใช้งานหรือไม่ ตรวจสอบเครื่องปั๊มน้ำ ตรวจวาล์ว (ปั๊มดึงน้ำจากถังหรือประปา) ซึ่งแน่นอนว่าหากมีไฟดับแล้วส่วนใหญ่ปั๊มน้ำใช้งานไม่ได้ (ปิดวาล์วเปิดใช้น้ำประปาแรงดันธรรมดาแทน) ต้องรู้เส้นทางน้ำว่าเข้าไปยังถังเก็บ จ่ายตรง รั่วซึม และเมื่อทดสอบการเปิดน้ำแล้ว ต้องมีการทดสอบปิดน้ำทุกพื้นที่ด้วยเช่นกัน เพื่อให้ทราบว่าปั๊มน้ำหยุดทำงานตามด้วยหรือไม่ (ปั๊มน้ำยังทำงาน สันนิษฐานว่ามีการรั่วซึม)
5.2 ท่อน้ำทิ้ง
คือ การตรวจน้ำเสียว่าพื้นห้องน้ำชั้นบนมีปัญหาหรือไม่ มีน้ำรั่วซึมใต้ฝ้าหรือเพดานบวม (เปิดฝ้าดูประกอบ) พร้อมตรวจท่อรอบ ๆ บ้านว่ามีการระบายออกได้ตามช่องทางเดินของท่อน้ำทิ้งหรือไม่ รวมถึงทิศทาง – องศาการวางท่อที่มั่นใจได้ว่าเป็นการส่งน้ำทิ้ง
โดยรวมข้อมูลข้างต้นนี้ก็เป็นเทคนิคตรวจรับบ้าน 5 ข้อที่เจ้าของบ้านสามารถตรวจสอบเพื่อประเมินความพึงพอใจกับผลงานของช่าง หากมีส่วนไหนชำรุดก็ไม่ควรละเลยจนเป็นเหตุให้โครงสร้างพังในภายหลัง มีการจดบันทึกรายการซ่อมแซมพร้อมนัดวันช่างเข้ามาเก็บงาน แก้ไขงานให้เรียบร้อย หลังจากนั้นทำการตรวจสอบและใช้งานหลังซ่อมแซมว่าสามารถใช้ได้ตามปกติแล้วหรืองานยังไม่เรียบร้อยเท่าไหร่ก็พูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา แต่อย่างที่ได้กล่าวไปว่างานมนุษย์คืองานฝีมือ ความสมบูรณ์แบบเองก็ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจเช่นกัน
แต่ถ้าหากใครไม่ถนัดเรื่องการตรวจรับบ้านก่อนโอนด้วยตัวเอง The Wisdom Property มีบริการรับตรวจบ้าน และคอนโด โดยวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้คุณได้รับส่งมอบบ้านที่มั่นใจว่าได้มาตรฐาน ครบพร้อมในเรื่องของความปลอดภัย สมาชิกภายในบ้านก็อุ่นใจ ลดโอกาสเกิดปัญหาและค่าใช้จ่าย (ซ่อมแซม/แก้โครงสร้าง) ที่อาจงอกเพิ่มในภายหลังได้