GIMME Shelter cnx เรื่องเล่าโกดังเก่าสู่คอมมูนิตี้แนวอินดี้ จ.เชียงใหม่
ใครจะรู้ว่าโกดังเก่าจะสามารถคืนสีสันให้พื้นที่แห่งเดิมกลับมามีชีวิตชีวาได้อีกครั้ง GIMME Shelter cnx ผลงานการเปลี่ยนโกดังเก็บสินค้าและเฟอร์นิเจอร์เก่า ให้เป็นคอมมูนิตี้หรือสถานที่พบปะรวมตัวของผู้คนใจกลางเมืองเชียงใหม่ โดยคุณพีระพงษ์ พรมชาติ (เบล) เล่าให้ทีมงานฟังตั้งแต่การเลือกทำเลที่มาพร้อมกับความบังเอิญ โลเคชันดีที่ไม่ได้มาจากความตั้งใจหา ซึ่งนอกจากบทบาทเจ้าของธุรกิจแล้ว คุณเบลยังเป็นสถาปนิกฝีมือดีที่รู้จักกันในวงการเขียนแบบจาก Housescape Design Lab โปรเจกต์บ้านเชียงแสน จ.เชียงใหม่ (Baan Jihang Saen) ที่ถูกพูดถึงและคอมเมนต์ชื่นชมกันอย่างล้นหลาม สาระอสังหา นำเรื่องราวและประสบการณ์ของคุณเบลบทบาทสถาปนิกในคราบนักธุรกิจ บอกเล่าถึงแนวคิด จุดยืนการทำธุรกิจที่คนหนึ่งคนสามารถสร้างผลงานให้ประสบความสำเร็จได้มีที่มา ที่ไปอย่างไร
‘Housescape Design Lab’ ออฟฟิศที่ให้ทั้งความฝัน ความหวัง และแรงผลักดัน
ออฟฟิศและพื้นที่ Workshop “Housescape Design Lab” ถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งในโกงดังใหญ่ ซึ่งเดิมที่อยู่ที่ Basecamp Coffee House โซนมหาวัทยาลัยเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ คุณเบลพูดถึงเหตุผลง่าย ๆ ในการย้ายมา เพราะความตั้งใจแรกในการทำโกงดังแห่งนี้คือพื้นที่ทำงานและออฟฟิศส่วนตัว แต่ด้วยความกว้างขวางของโกดังที่ยังทำอะไรได้อีกมาก จึงทำให้เกิดเป็นจุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจ “GIMME Shelter cnx”
“ตอนแรกตั้งใจทำเป็นโรงงาน Space ของตัวเอง แต่สุดท้ายพอได้คุยกับ Partner เราคุยกันมาเรื่อย ๆ 4-5 ปี ก็เลยเป็นจุดที่ไหน ๆ ก็เจอทำเลแล้ว โลเคชันดี มีที่จอดรถด้วยเลยตกลงกันเปิดร้านอาหาร” คุณเบล
คุณเบลเล่าต่อว่าการทำงานส่วนใหญ่จะผ่านที่เจ้าตัวโดยตรง แต่ก็ยังมีผู้ช่วย 3 คน ซึ่งก็สอดคล้องกับความต้องการที่ยังอยากให้ที่นี่เป็นองค์กรเล็ก ๆ ต่อไป เพราะสะดวกทั้งการตรวจดูงานและการประเมินความเรียบร้อยในขั้นตอนต่าง ๆ ถึงแม้เจ้าตัวจะบอกเองว่าไม่ชอบความสมบูรณ์แบบ แต่งานลูกค้าต้องดูละเอียดทุกงาน ในขณะที่หลายออฟฟิศเน้นเขียนแบบให้สถาปนิกเข้าใจ แต่ที่นี่ Housescape Design Lab เน้นการเขียนแบบอย่างไรให้ช่างเข้าใจมากกว่า
สัดส่วนของลูกค้ามักติดต่อมาจากทางภาคกลาง – ภาคใต้ เช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ตเป็นส่วนใหญ่ แต่ภาคเหนือที่เชียงใหม่ ลูกค้ารายแรกเป็นโปรเจกต์บ้านเชียงแสน (Baan Jihang Saen) ซึ่งหลายคนอาจจะเคยคุ้นหูหรือเห็นผ่านตากันมาบ้างแล้ว คุณเบลเล่าว่าลูกค้ามีทั้งชาวไทยและต่างชาติ ถึงแม้จะเป็นการสื่อสารทางไกลก็ไม่ได้เป็นปัญหา ทุก ๆ งานสามารถปิดโปรเจกต์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
โดยออฟฟิศจะมีน้อง ๆ เด็กรุ่นใหม่เข้ามา Workshop เรื่อย ๆ Housescape Design Lab ไม่ได้เหนียมอายในเรื่องข้อผิดพลาดที่เกิดจากงาน แต่เน้นใช้เป็นประสบการณ์มากกว่า เพราะอย่างที่ทราบกันว่างานสถาปัตฯ เป็นงานที่ค่อนข้างกินเวลาชีวิตและใช้เวลานานกว่าที่คิด นานกว่าจะสำเร็จ นานกว่าจะมีชื่อเสียง การเดินทางกันไกลต้องใช้ความอดทนสูง แล้วการให้กำลังใจง่าย ๆ คือเอาความผิดพลาดออกมาให้ดู
“ปัจจุบันเพียงค้นหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตก็เจอความสำเร็จของผู้คนหลาย ๆ แขนง การทำงานของออฟฟิศที่นี่จึงกล้าที่จะเผชิญความผิดพลาดได้ แล้วนำจุดที่พลาดออกมาดูเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ ล้มเหลวก็แค่ทดลองใหม่ แต่ไม่ใช่การทำพลาดแล้วกลับไปพลาดอีก สิ่งเหล่านี้อาจจะพอช่วยคนรุ่นใหม่ที่จบออกมาได้เห็นเบื้องหลังหลาย ๆ อย่างที่มันมีชีวิต ไม่ใช่ว่าเห็นแต่ภาพที่มันสำเร็จแล้วเพียงอย่างเดียว อะไรทำได้ก็จะช่วยทำ”คุณเบล
‘GIMME Shelter cnx’ คอมมูนิตี้สเปซ พื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์
เท้าความก่อนพื้นที่ตรงนี้จะเป็นคอมมูนิตี้กลางเมืองเชียงใหม่แบบในปัจจุบัน คุณเบลที่ประกอบอาชีพเป็นสถาปนิกแต่มีความคิดอยากทำธุรกิจส่วนตัว ก็ทำงานในส่วนสถาปัตฯ ไปด้วย ในขณะเดียวกันก็มองหาทำเลอยู่เรื่อย ๆ เป็นเวลากว่า 4-5 ปี ก็ยังไม่เจอโลเคชันที่ถูกใจสักที แต่อยู่ ๆ กลับได้รับโทรศัพท์ให้ไปดูสถานที่ที่หนึ่ง ซึ่งเป็นโกงดังเก็บของเก่าที่คุณเบลเล่าว่า เห็นเพียงครั้งแรกก็รู้สึกชอบแบบที่รู้ได้เลยว่าสิ่งที่เห็นตรงหน้ามีอะไรหลาย ๆ อย่างนำไปพัฒนาและทำกำไรได้ ไม่ว่าจะเป็นระยะร่นอาคาร (Set Back) พื้นที่จอดรถขนาดกว้าง แต่ถึงแม้ตำแหน่งโกดังไม่ได้ตั้งอยู่ติดถนนใหญ่ ด้วยเหตุผลของความไม่สมบูรณ์แบบแต่สามารถปั้นขึ้นมาได้ใหม่ ทำให้การมาดูโกดังในวันนั้น คุณเบลใช้เวลาตัดสินใจซื้อทันทีจนกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของ “GIMME Shelter cnx” ธุรกิจที่ทำร่วมกับ Partner อีก 2 – 3 ท่าน
“GIMME Shelter cnx” ชื่อนี้มาจากเพลงของวงดนตรีเดอะโรลลิงสโตน (The Rolling Stone) การพูดถึงสงครามเวียดนาม ที่ ‘Shelter’ ไม่ใช่แค่ที่อยู่แต่หมายถึงอาหารหรืออะไรก็ตามที่ทำให้คนรู้สึกสบายใจเมื่อได้สัมผัส ประกอบกับรสนิยม ความชอบในกลิ่นอายของ Rock & Roll 60s – 70s การศึกษาด้านประวัติศาสตร์ คุณเบลจึงนำชื่อเพลงมาตั้งเป็นชื่อของโกดัง โดยความหมายหากให้อธิบายลึกลงไปกว่านี้ คือ ที่นี่ไม่ได้มีแค่ร้านกาแฟ Sukhum Caffe’ – สุขุม คาฟเฟ่ บาร์ค็อกเทล midlifecrisis.cnx ร้านอาหาร สวน-สนทนา แต่ยังมีงานฝีมือ (Handcraft) ที่สร้างรายได้ (Income) ไปสู่คุณลุง คุณป้า ช่างฝีมือ หรือเป็นการทำสิ่งเล็ก ๆ เพื่อคนเล็กคนน้อยเหมือนชื่อของโกดังนั่นเอง
แนวทางการเปลี่ยนโกดังเก่าแห่งนี้ คือ การเปลี่ยนพื้นที่ให้เป็นคอมมูนิตี้ที่มีความเนิร์ด (Nerd) เฉพาะด้านของตัวเอง หลายคนที่เคยมาอาจสังเกตเห็นว่าไม่มีมุมไหนโดดเด่นเป็นพิเศษ สอบถามคุณเบลจึงได้ทราบว่าเกิดจากความตั้งใจที่ไม่ได้พยายามออกแบบ ขยายความอีกนิดนั่นหมายถึงการทำพื้นที่ให้คนไม่ได้โฟกัสกับพื้นที่ Space ทุกมุมไม่ได้ถ่ายภาพออกมาสวยจนดูดี แต่ก็ไม่ได้แย่สักทีเดียว เพียงเป็นการเลี่ยงการถ่ายภาพหรือถ่ายไม่มากก็กลับมานั่งคุยสนทนา รับประทานอาหารและให้ความสำคัญกับผู้คนที่อยู่ตรงหน้า
บทสัมภาษณ์มุมมองการทำธุรกิจ “GIMME Shelter cnx”
โดยรวมการรีโนเวทโกดังเรียกว่าเป็นการออกแบบดีไซน์อะไร?
: “พูดว่าไม่มีสไตล์แบบตายตัวดีกว่า เราเน้นการทำงานที่หลีกเลี่ยงสภาวะ Perfectionist เพราะตัวเราเองก็ไม่เพอร์เฟกต์ เลยนำเสนอสิ่งที่ไม่สมบูรณ์หรือสิ่งที่มีตำหนิออกไป แต่ไม่ใช่การทำให้ท่อรั่วหรือกำแพงแตก แต่สิ่งที่มีตำหนิในที่นี้ต้องอยู่ในขีดจำกัดของมนุษย์ ถือเป็นร่องรอยความทรงจำของคนทำ” คุณเบล
สัดส่วนของลูกค้าที่เข้ามาเที่ยว ทานอาหาร นั่งชิลล์ที่นี่มีต่างชาติหรือคนไทยมากกว่า?
: “ลูกค้าชาวต่างชาติ 30% ส่วนใหญ่มาช่วงกลางวันบ้าง แต่กลางคืนจะเยอะกว่า และลูกค้าชาวไทย 70% ส่วนหนึ่งก็มีลูกค้า Housescape Design Lab เดินทางมาจากทรุงเทพฯ ก็จะนั่งทานอาหาร จิบไวน์ต่อที่นี่เลย” คุณเบล
เหตุผลการเลือกโลเคชันร้าน เพราะทำเลหรือผู้คน?
: “อย่างที่บอกครับ อยู่ดี ๆ ก็หาได้เลย เราขับรถมาดูพร้อมทีมงาน ภาพแรกที่เห็นเป็นโรงงานหลังใหญ่ ในใจรู้สึกได้เลยว่าที่นี่มีศักยภาพมาก เมื่อตัดสินใจซื้อก็ติดต่อเจ้าของเดิมไม่ยาก สุดท้ายก็กลายมาเป็นเพื่อนกันเอง” คุณเบล
เวลาเปิด – ปิดของร้านตรงตามข้อมูลที่แจ้งไว้บน Facebook Page ?
: “Lunch 11.00 น. – 14.30 น. / Dinner 17.00 น. – 21.30 น. ส่วนร้านกาแฟ Sukhum Caffe เปิดให้บริการ 07.00 น. – 19.00 น. ครับ ” คุณเบล
คุณเบลได้แพลนเป้าหมายในอนาคตหรือไม่ โกดังจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน?
: “ส่วนตัวคิดว่าสถาปัตยกรรมมีชีวิต ร้านอาหารเองก็มีชีวิตเหมือนกัน จะมีการปรับเปลี่ยนตัวเองตลอดเวลา อย่างไรก็ต้องเกิดกิจกรรมใหม่ ๆ ติดตามได้ที่ Facebook Page : GIMME Shelter cnx” คุณเบล
จากการสัมภาษณ์คุณเบลทั้งบทบาทสถาปนิกและเจ้าของธุรกิจ ทำให้ทราบมุมมองและคติในการทำงาน ‘ความไม่สมบูรณ์แบบ’ ที่สอดคล้องกับภาพลักษณ์สบาย ๆ สไตล์ชิลล์ ๆ ทำให้รู้ว่าในบางครั้งสิ่งที่ทำแตกต่างแต่เกิดจากความตั้งใจ อย่างไรก็ถ่ายทอดออกมาได้ ซึ่งก็ต้องแยกระหว่างตำหนิกับความไม่ตั้งใจหรือทำไปส่ง ๆ เพราะความไม่สมบูรณ์แบบในที่นี้ให้ข้อคิดกับเราว่า การทำงานภายใต้กำลังหรือศักยภาพของมนุษย์ก็มีโอกาสผิดพลาดได้ หลาย ๆ อย่างไม่ต้องเพอร์เฟกต์มากมาย แต่งานที่มีความเนิร์ดของตัวเองจะดึงลูกค้าที่ชื่นชอบในความเป็นสไตล์งานนั้น ๆ เข้ามาเอง
สุดท้ายใครที่กำลังมองหาแนวทางในการเริ่มต้นประกอบธุรกิจด้านอสังหาฯ หรือธุรกิจอื่น ๆ สามารถนำเรื่องราวในบทความสัมภาษณ์ข้างต้นมาเป็นแรงบันดาลใจได้ สามารถติดตามและอ่านบทสัมภาษณ์ นักธุรกิจและอินฟลูเอนเซอร์ท่านอื่นต่อได้ที่ สาระอสังหา หรือ Facebook : สาระอสังหา
Photographer : Benjapol Osathanugrah
Graphic : Wittaya Boonkerd