ยุคที่อะไร ๆ ก็เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งเรื่องของดิจิทัล เทคโนโลยีทันสมัย ทำให้เราต้องปรับตัวตาม และไม่ลืมที่จะเติมไฟให้ตัวเองอย่างสม่ำเสมอ แต่ในบางครั้งการนั่งทำงานอยู่ที่บ้านในสภาพแวดล้อมเดิม ๆ ก็อาจไม่ได้ตอบโจทย์อีกต่อไป สาระอสังหา ชวนทำความรู้จักธุรกิจ “Punspace” สัมผัสบรรยากาศพื้นที่นั่งทำงานสุดร่มรื่น พร้อมพูดคุยถึงจุดเริ่มต้นการทำธุรกิจโคเวิร์คกิ้งสเปซ (Co-Working Space) จ.เชียงใหม่ จากผู้บริหาร คุณพงศธร รักถิ่น (คุณนน) เกี่ยวกับกลยุทธ์ ปัจจัยแปรผัน และทิศทางธุรกิจในอนาคตหลังเกิดเทรนด์การทำงานอย่างอิสระแบบไร้ขีดจำกัด “Work from Anywhere”
จุดเริ่มต้นการทำ Co Working Space จังหวัดเชียงใหม่
เดิมทีผู้ก่อตั้งประกอบอาชีพโปรแกรมเมอร์อยู่จังหวัดกรุงเทพฯ ได้มีโอกาสใช้บริการ “HUBBA” co working space แห่งแรกของไทย ที่เรียกได้ว่าเป็นแหล่งคอมมูนิตี้สำหรับกลุ่ม Freelance, Start-up, Investor, Designer, Programmer แล้วรู้สึกชื่นชอบ หลังจากได้กลับมาอยู่ที่บ้านจังหวัดเชียงใหม่ ก็เริ่มศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจโคเวิร์คกิ้งสเปซ แล้วพบว่ายังไม่มีใครทำ ประกอบกับการมองเห็นศักยภาพของเชียงใหม่ กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มีไลฟ์สไตล์การทำงานแบบอิสระ (Digital Nomad) จึงเปิดธุรกิจ “Punspace” สำเร็จสาขาแรกย่านนิมมานเหมินทร์ ในปีพ.ศ. 2556
จากอดีตถึงปัจจุบันปันสเปซเป็นธุรกิจหนึ่งที่ได้รับผลตอบรับดีเรื่อยมา เพราะเมืองไทยยังถือเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติ ทำให้ภายใน 4 ปี ปันสเปซเปิดสาขาเพิ่มรวมทั้งหมด 3 แห่ง ได้แก่ นิมมานเหมินทร์ ประตูท่าแพ และเวียงแก้ว จนกระทั่งปลายปี พ.ศ.2562 เกิดการระบาดไวรัสสายพันธุ์ใหม่ไปทั่วโลก COVIV-19 กระทบเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว เป็นสาเหตุให้ปันสเปซต้องปิดสาขานิมมานเหมินทร์ลง แต่ยังคงเปิดให้บริการสาขาประตูท่าแพและสาขาเวียงแก้ว
การพัฒนาปันสเปซสู่ “Community Mall” กลางเมือง
จุดประสงค์แรกของผู้ก่อตั้ง Punspace คือ ต้องการสร้างพื้นที่นั่งทำงานสบาย ๆ “Co Working Space” ที่มีทั้งสิ่งอำนวยความสะดวก มีบรรยากาศช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่สามารถพบปะสังคม และรับคอนเนคชั่นทางธุรกิจได้ ต่อมาภายหลังเปิดสาขาเวียงแก้ว ซึ่งเป็นทำเลในเมืองที่มีขนาดค่อนข้างกว้าง ด้านผู้ก่อตั้งมีความต้องการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์ เพิ่มทางเลือกบริการให้ลูกค้า และเพิ่มรายได้ให้ธุรกิจ จึงเปิดพื้นที่บางส่วนให้เจ้าของธุรกิจ/ร้านค้าขนาดเล็กเช่าพื้นที่ เช่น ร้านกาแฟแนวแคมป์ปิ้ง ร้านผลไม้ปั่น ร้านอาหารญี่ปุ่น ร้านอาหารเกาหลี ร้านอาหารเวียดนาม ร้านหมูจุ่มชาบู ฯลฯ เพิ่มจุดเด่น เน้นความหลากหลายให้ลูกค้ารายใหม่และรายเก่ากลับมาใช้บริการ
ปันสเปซสาขาเวียงแก้วจึงเปรียบเสมือน “Community Mall” ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง แน่นอนว่าเสน่ห์ดึงดูดใจลูกค้ามีทั้งเรื่องของความสะดวกสบาย ความหลากหลายงานบริการ ร้านค้าต่าง ๆ ยังมีต้นไม้ใหญ่ที่ให้ความร่มรื่น สวนเล็ก ๆ สนามหญ้ากว้าง ให้ลูกค้าที่มาใช้บริการสามารถทำงานไปด้วย ดื่มกาแฟ นั่งชิลล์ไปด้วย หรือพาสัตว์เลี้ยงตัวเล็กมาวิ่งเล่นได้
“Co Working Space” ธุรกิจที่ต้องคิดให้มากกว่าเท่าที่รู้
ในมุมมองของบุคคลทั่วไป “Co Working Space” อาจเป็นธุรกิจที่ไม่ต้องใช้ความรู้หรือวิชาการมากสักเท่าไร เพียงมีห้องว่างที่จัดโต๊ะทำงาน ติดเครื่องปรับอากาศ และต่ออินเทอร์เน็ตได้เท่านี้ก็เพียงพอ แต่จากประสบการณ์ตรงของผู้ก่อตั้งในฐานะอาชีพโปรแกรมเมอร์ ที่ได้ทราบถึงปัญหาการนั่งทำงานเป็นเวลานานมาปรับใช้เพื่อให้ Punspace เป็นออฟฟิศอิสระที่โดดเด่นกว่าที่อื่น เช่น การจัดกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ให้สมาชิก/ลูกค้าได้ทำความรู้จักกัน การดีไซน์อาคารให้สามารถแบ่งโซนการใช้เสียง โซนเงียบ และห้องสำหรับวีดิโอคอนเฟอเรนซ์
ในเรื่องการเลือกทำเลทั้ง 3 สาขา ส่วนใหญ่จะเน้นพิจารณาพื้นที่ที่เดินทางสะดวกไม่ไกลจากแหล่งชุมชน ระแวกใกล้เคียงมีร้านอาหารและที่พัก โดยนำราคาเช่าของแต่ละพื้นที่พิจารณาอย่างละเอียดอีกครั้ง นั่นจึงเป็นเหตุผลการเลือกปิดสาขานิมมานเหมินทร์จากพิษของเศรษฐกิจ แต่การปรับตัวของปันสเปซยังลดค่าบริการจากเดิม 289 บาท/วัน เหลือเพียง 229 บาท/วัน เน้นบริการให้เกิดความประทับใจ ถือเป็นกลยุทธ์เล็ก ๆ กระตุ้นลูกค้าให้ออกมาใช้จ่ายและใช้บริการ
จุดเริ่มต้นการเข้ามาบริหารปันสเปซสาขาเวียงแก้วของ คุณพงศธร รักถิ่น (นน)
“ผมเข้ามาหลังจากปันสเปซเปิดได้ประมาณ 3 เดือน ตอนนั้นยังทำงานอยู่กรุงเทพ แล้วผู้ก่อตั้งซึ่งเป็นเพื่อนกันอยู่แล้ว ได้ชวนมาทำก็เลยได้โอกาสกลับบ้านที่เชียงใหม่ ในตอนแรกเรายังเป็นบริษัทเล็ก ๆ มีพนักงาน 1-2 คน ก็เหมือนกับว่าเราได้ทำทุกอย่าง ทั้งรับลูกค้า เก็บเงิน ติดต่อหน่วยงานต่าง ๆ ซื้อของเข้าร้าน ทำความสะอาด แต่การดูแลในปัจจุบัน ก็จะเน้นไปที่งานภาพรวม งานด้านเอกสาร งานประสานงานกับบุคคลภายนอก”
การวางแผนทำธุรกิจ คิดว่า “Target” เป็นใคร?
“วางแผนว่าอยากให้คนไทยมาใช้งานเยอะ ๆ เพราะตั้งใจให้เป็นพื้นที่พบปะกันของคนในแวดวง IT แต่พอได้เปิดบริการจริงก็จะเห็นว่าเป็นลูกค้าชาวต่างชาติมากกว่า ประมาณ 90%”
รายได้ของธุรกิจเกิดจากส่วนไหน?
“รายได้หลัก ๆ เกิดจาก 2 ช่องทาง คือ co working space และค่าเช่าจากร้านค้า ซึ่งสัดส่วนใกล้เคียงกันทั้งคู่”
การเข้าใช้บริการสามารถ Walk-in ได้เลยหรือไม่?
“ผู้ใช้บริการสามารถ Walk in ได้เลย ไม่ต้องจองล่วงหน้าก็ได้ เพราะที่นั่งจะเป็นลักษณะการเลือกนั่งส่วนไหนก็ได้ มาก่อนได้เลือกก่อน”
ความคิดเห็นต่อธุรกิจ “Punspace” ปัจจุบันอยู่ในจุดที่เรียกว่าประสบความสำเร็จแล้วหรือไม่ หรือพัฒนาต่อไปในทิศทางไหนได้บ้าง?
“ เราไม่ได้คิดเพียงแค่การมีลูกค้ามาใช้บริการเยอะแล้วก็พอใจ แต่ยังมีโปรเจกต์ที่คิดไว้อยู่อีกมาก ขึ้นอยู่กับเวลาและสถานการณ์ว่าจะมีโอกาสเมื่อไหร่ บางครั้งก็ยังคิดเล่น ๆ กับผู้ก่อตั้งว่าเราอยากจะไปถึงจุดที่เป็นแหล่งผลิต Start-up ของประเทศไทยหรือของโลก แต่ ณ ปัจจุบันเพียงแค่มีรายได้จ่ายค่าเช่า เงินเดือนพนักงาน ก็เพียงพอแล้วครับ”
จะเห็นได้ว่าการใช้ชีวิตของผู้คนสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์ แพนเดมิคทำให้เทรนด์การทำงานที่บ้านได้ผลตอบรับดี และถูกยอมรับว่ามีประสิทธิภาพโดยไม่จำเป็นต้องนั่งอยู่กับที่ในออฟฟิศ co working space จึงเป็นหนึ่งทางเลือกเพื่อการทำงานแบบอิสระ “Punspace” ยกระดับพื้นที่ทำงานให้กลายเป็นคอมมูนิตี้ที่มีความหลากหลายบนทำเลศักยภาพ เป็นธุรกิจที่ต้องปรับตัวอยู่ไม่น้อย แต่เนื่องจากความเข้าใจของกลุ่มผู้บริหาร ทำให้ปันสเปซยังสามารถปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจ และเปิดให้บริการจนถึงปัจจุบันโดยที่ยังมีกระแสตอบรับดีและเป็นที่นิยมในจังหวัดเชียงใหม่นั่นเอง