top

ประชาสัมพันธ์

ประชาสัมพันธ์ บทสัมภาษณ์ เก๊าไม้ล้านนา | Kaomai Estate 1955 ธุรกิจใหญ่บนพื้นที่กว่า 43 ไร่

หากพูดถึงร้านคาเฟ่ท่ามกลางธรรมชาติที่จ.เชียงใหม่ หนึ่งในโลเคชันเขียวขจีที่ผุดขึ้นมาคงต้องเป็น เก๊าไม้ เอสเตท 1955 (Kaomai Estate 1955) หรือเก๊าไม้ล้านนา สถานที่ท่องเที่ยวที่มีมุมถ่ายภาพเป็นเอกลักษณ์ (Unique) มีฉากหลังผนังถูกประดับตกแต่งด้วยไม้เลื้อยทั้งหลัง ลานกว้างกลางแจ้งที่มีเก๊าไม้ใหญ่ตั้งเด่นเป็นสง่า ทัศนียภาพร่มรื่นเป็นระเบียบ องค์ประกอบอาคารและสถาปัตยกรรมที่สวยงาม จึงเป็นเหตุผลที่ดึงดูดใจคนทางไกลหรือผู้คนที่หลงใหลในความสงบให้เลือกเดินทางมาพักผ่อน ดื่มกาแฟ ทานขนมที่นี่ พร้อมแบกความประทับใจและรับอากาศบริสุทธิ์กลับไปอย่างเต็มปอด

เก๊าไม้ล้านนา อาจเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและบริการที่หลายคนเข้าใจว่าเป็นคาเฟ่นั่งชิลล์จิบกาแฟ แต่ในความเป็นจริงบนพื้นที่กว่า 43 ไร่ มีสิ่งที่น่าสนใจให้ลูกค้าได้เข้ามาสัมผัสอีกมากมาย เช่น เก๊าไม้ล้านนา รีสอร์ท พิพิธภัณฑ์เก๊าไม้ ร้านอาหารพ่อเลี้ยง บิสโทร และโปรเจกต์ใหม่อย่างเตาชา เป็นต้น ทีมงานสาระอสังหาได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณจักร์ เชิดสถิรกุล Project Manager ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จเก๊าไม้ล้านนา เล่าเรื่องราวโปรเจกต์ต่าง ๆ ที่เจ้าตัวได้ให้คำนิยามว่าเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้และพัฒนาอยู่เสมอ

เรื่องราวของเก๊าไม้ เอสเตท 1955 หรือเก๊าไม้ล้านนา

บริษัท แม่ปิงยาสูบ ดำเนินธุรกิจโดยเจ้าชื่น สิโรรส พ.ศ. 2497 ถือเป็นโรงบ่มใบยาสูบขนาดใหญ่ เป็นอุตสาหกรรมที่โดดเด่นมากในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย เมื่อผ่านกาลเวลาแน่นอนว่าเรื่องปกติของการทำธุรกิจต้องมีการพัฒนา รวมถึงการเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร และคุณธวัช เชิดสถิรกุล คุณพ่อของคุณจักร์ก็ได้เข้ามารับหน้าที่ต่อในช่วงปี พ.ศ. 2530 ซึ่งธุรกิจก็ได้ดำเนินต่อมาอย่างราบรื่น กระทั่งความยากของการทำยาสูบในช่วงเวลาต่อมา ต้องเจอกับอุปสรรคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปิดป่ารณรงค์ลดการใช้ฟืน เรื่องมลพิษทางอากาศที่เป็นผลกระทบมาจากการใช้ลิกไนต์ ประกอบกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น พื้นที่การปลูกยาสูบลดลง จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ตัดสินใจปิดกิจการโรงบ่มใบยาสูบในที่สุด

พิพิธภัณฑ์เก๊าไม้

คุณจักร์ได้เล่าต่อหลังคุณพ่อหยุดทำธุรกิจยาสูบลง ก็ได้หันมาทำธุรกิจครอบครัวควบคู่กับการปลูกต้นไม้ เนื่องจากคุณพ่อและคุณแม่เองมีความรู้ด้านพืชสวน ทำให้ท่านทั้งสองมีอุปนิสัยที่รักธรรมชาติ สนใจในเรื่องของต้นไม้ จึงได้จัดพื้นที่เดิมที่มีความกว้างขวางอยู่แล้ว ทำ Landscape โดยมีต้นมะขามอายุ 100 ปี ยืนต้นให้ร่มเงาจนกลายเป็นโลเคชันสวย มุมยอดนิยมในปัจจุบัน

Landscapeเก๊าไม้ล้านนา

ต่อมาคุณพ่อเริ่มผุดไอเดียทำร้านอาหารขึ้น ซึ่งในยุคสมัยนั้นอาจยังไม่ได้เน้นเทคนิคการตลาดมากนัก เพียงคำนึงถึงจุดเด่นของเส้นทางผ่านระหว่างเชียงใหม่ – ดอยอินทนนท์เท่านั้น หลังเปิดร้านอาหารสำเร็จก็เล็งเห็นถึงความสมเหตุสมผลในการทำโปรเจกต์ห้องพัก จนถึงปัจจุบันสามารถพูดได้ว่ากลายเป็นเอกลักษณ์ของทำเลแห่งนี้


“เก๊าไม้ คำภาษาเหนือที่ใช้เรียกแทนต้นไม้ใหญ่ เก๊าไม้ล้านนา รีสอร์ท เป็นภาพจำสถานที่ที่ให้บรรยากาศอบอุ่น ผู้คนสามารถเดินเล่นพักผ่อนใต้ร่มไม้ได้ แล้วถ้าพูดถึงระยะทางผมว่าไกลพอที่คนจะบ่น แต่ก็ใกล้พอที่คนจะขับรถไปนอนในเมือง”


จนกระทั่งคุณจักร์และพี่สาวกลับมาอยู่เชียงใหม่ ได้เริ่มเรียนรู้และทำความเข้าใจความต้องการของกลุ่มลูกค้าหรือผู้ที่จะมาเป็นลูกค้า (Special Group) ในขณะเดียวกันเทรนด์การเดินทางท่องเที่ยวดื่มกาแฟกำลังเป็นที่นิยม จึงเป็นจังหวะที่ดีเริ่มทำโปรเจกต์ใหม่ไปพร้อม ๆ กับการหาลูกค้าเข้ามาพักที่รีสอร์ท

เก๊าไม้ล้านนา รีสอร์ท (Kaomai Lanna Resort)

เก๊าไม้ล้านนา รีสอร์ท

เก๊าไม้ล้านนา รีสอร์ท เปิดให้บริการเมื่อปีพ.ศ. 2540 ถูกปรับเปลี่ยนจากอาคารโรงบ่มใบยาสูบเก่าจำนวน 18 หลัง แปลงโฉมด้วยการประดับตกแต่งจากของเก่าที่คุณธวัชได้สะสมไว้ สร้างบรรยากาศอาคารให้มีความเป็นโคโลเนียล ซึ่งในส่วนของการจัดสวนรอบ ๆ ยังคงคอนเซ็ปต์การเก็บรักษาต้นไม้ทุกต้น โดยระหว่างนั้นก็มีการเพิ่มจำนวนต้นไม้อยู่เรื่อยมา จนทำให้พื้นที่โอเอซิส (Oasis) แห่งนี้กลายเป็นมิตรกับทั้งคนและสัตว์ ในปัจจุบันจะเห็นจุดเด่นของอาคารเป็นลักษณะถูกปกคลุมด้วยไม้เลื้อย เช่น ต้นตีนตุ๊กแก ต้นพริกไทย หรือเห็นผลสีแดงแซม ๆ จากต้นดีปลี ทำให้องค์ประกอบโดยรวมยังเป็นการรักษาสมดุลของธรรมชาติได้ด้วย

คาเฟ่ โรงบ่ม (Cafe Rong Bom)

คาเฟ่โรงบ่ม เก๊าไม้ล้านนา

คาเฟ่โรงบ่ม ก็เป็นอีกหนึ่งโลเคชันที่ถูกดัดแปลงจากอาคารโรงบ่มเก่าเช่นเดียวกัน แต่เป็นเตาบ่มแฝดที่เกิดจากการก่อสร้างรวมอาคารหลังจากไฟไหม้ในอดีต ซึ่งกลุ่มผู้ออกแบบและก่อสร้างต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง โดยคำนึงถึงคุณค่าและเอกลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรมของอาคาร ดึงคอนเซ็ปต์เดิมสร้างจุดเด่นให้สอดคล้องกับธรรมชาติโดยรอบ จึงเป็นเหตุผลให้ใครหลายคนเลือกเดินทางมาพักผ่อน จิบกาแฟ ที่นี่

เตาชา (Tao Cha)

เตาชา เก๊าไม้ล้านนา

โปรเจกต์ใหม่ล่าสุดของเก๊าไม้ เอสเตท 1955 (Kaomai Estate 1955) ความพิเศษคืออาคารที่รับแรงบันดาลใจจากรูปทรงโรงบ่มเก่า ทั้งโครงสร้าง หลังคา รวมถึงช่องอากาศ เป็นการย้ายอิฐมอญจากอาคารหลังเดิมนำมาใช้ก่อผนังเตาชาใหม่ทั้งหลัง เคาน์เตอร์ชงชา และมีการลดระดับพื้นอาคารเพิ่มความสูง เน้นเปิดช่องแสงเพื่อความโปร่งโล่ง รับบรรยากาศจากภายนอก ถือเป็นการสร้างประสบการณ์ดื่มชาให้กับลูกค้า คุณจักร์ยังเล่าต่อว่าที่มาของโปรเจกต์เตาชาคือการวิเคราะห์ลูกค้า ช่วงอายุ ความชอบ เพื่อพิจารณาผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย ‘ชา’ ความแตกต่างที่สร้างจุดขายให้ที่นี่ จนกระทั่งร้านชาเปิดในปีพ.ศ. 2565 ปรากฏว่าผลตอบรับดี หรือบางทีลูกค้ากลุ่มเดิมอาจกลายเป็นกลุ่มลูกค้าของรีสอร์ทในอนาคตได้

เรื่องเล่าพิพิธภัณฑ์สู่รางวัลจาก UNESCO (Cultural Heritage Consrervation 2018)

พิพิธภัณฑ์เก๊าไม้ (Kaomai Museum) ปัจจุบันโรงบ่มใบยาสูบถูกเปลี่ยนสถานะให้เป็นพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเป็นรูปธรรมการเล่าเรื่องราวในอดีต ผ่านการอนุรักษ์อาคารด้วยวิธีการปรับปรุง (Adaptation) ซ่อมแซมผนังอิฐมอญ โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก โครงสร้างไม้ รวมถึงวัสดุมุงหลังคาให้อยู่ในรูปแบบเดิม แล้วยังมีการเสริมโครงสร้างเสาและคานให้อาคารแข็งแรงมากขึ้น ซึ่งภายในมีการวางแท่นจัดแสดงเพื่อเล่าเรื่องราวของพื้นที่แห่งนี้ ความเป็นมาเมื่อผ่านกาลเวลา สะท้อนให้เห็นถึงการรักษาและคงคุณค่าทางสถาปัตยกรรม

พิพิธภัณฑ์เก๊าไม้ เก๊าไม้ล้านนา

คุณจักร์ Project Manager เก๊าไม้ล้านนา

ในปีค.ศ. 2018 องค์กร UNESCO ได้มอบรางวัลหมวดการออกแบบใหม่ในบริบทของมรดกทางวัฒนธรรม “Cultural Heritage Consrervation 2018” ให้โครงการที่ก่อสร้างใหม่ แต่มีวัตถุประสงค์ที่คงความโดดเด่นและสอดคล้องวัฒนธรรม ซึ่งจะเห็นว่าอาคารทุกหลังที่มีการปรับเปลี่ยนหรือฟิ้นฟูสภาพในโครงการเก๊าไม้ เอสเตท 1955 (Kaomai Estate 1955) หรือเก๊าไม้ล้านนา รูปร่างอาคารจะเหมือนต้นฉบับ “โรงบ่มใบยาสูบ” คุณจักร์เล่าถึงกระบวนการก่อสร้างอาคารทั้งหมดว่าผ่านการปรึกษาและลงความเห็นจากสถาปนิกฝีมือดีหลาย ๆ ท่าน มีการถอดอิฐก้อนเดิมจากโรงบ่มสร้างอาคารขึ้นมาใหม่ อ้างอิงโครงสร้าง รูปร่างเดิม ปรับดีไซน์ใหม่ด้วยการคัดสรรวัสดุที่คำนึงถึงความสะดวกและปลอดภัย

โปรเจกต์ถัดไป (ในอนาคต) ของเก๊าไม้ล้านนา “Educational Forest”

บรรยากาศเก๊าไม้ล้านนา

คุณจักร์ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับแผนในอนาคต การทำโปรเจกต์ใหม่ร่วมกับทีมสถาปนิก นักพฤกษศาสตร์และนักสัตว์ศาสตร์ “Educational Forest” ที่คาดว่าจะสำเร็จในปีพ.ศ. 2566 โดยมีจุดประสงค์การเปลี่ยนพื้นที่โล่งกว้างให้เป็นสถานที่ศึกษาพันธุ์พืชและสัตว์ แหล่งความรู้เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้คนได้เข้ามาทัศนศึกษา เยี่ยมชมและเรียนรู้ความเชื่อมโยงกันของธรรมชาติ แน่นอนว่างานนี้จะไม่มีการรบกวนความสมดุลของธรรมชาติอย่างแน่นอน เพราะเก๊าไม้เอสเตท 1955 ก็ยังจะคงคอนเซ็ปต์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไว้ให้สอดคล้องกับเรื่องราวของที่นี่ ในขณะเดียวกันหากทุกอย่างดำเนินการได้อย่างราบรื่นอาจเป็นอีกหนึ่งงานที่ช่วยเพิ่มประชากรสัตว์สายพันธุ์ต่าง ๆ หรือเป็นการอนุรักษ์ได้อีกด้วย

บรรยากาศคาเฟ่เก๊าไม้ล้านนา

บทสัมภาษณ์เกี่ยวกับมุมมองและทัศนคติการทำธุรกิจ ความสำเร็จ ‘เก๊าไม้ล้านนา’

ปัจจุบันธุรกิจอยู่ในจุดที่เรียกว่า ‘สำเร็จ’ แล้วหรือยัง?

“สำหรับผมคิดว่าเราประสบความสำเร็จกันมาประมาณปีพ.ศ. 2561 – 2562 แต่หลังเจอสถานการณ์ COVID19 แน่นอนว่ามีกระทบอยู่แล้ว ส่วนปัจจุบันปีพ.ศ. 2565 ก็ถือว่าเป็นปีที่ดีขึ้นกว่าปีก่อน ๆ ทำแผนโปรเจกต์ต่อไปได้เป็นรูปร่างมากขึ้น”

คาดการณ์ว่าทำเลนี้ 3 – 5 ปี ข้างหน้าจะมีการพัฒนาไปในทิศทางไหน?

“ปัจจุบันเมืองถูกขยายและพัฒนามากขึ้น หมู่บ้านและประชากรเยอะขึ้น เมื่อมีผู้คนมาอยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมาก ๆ ก็จะมีกฎเกณฑ์เกิดขึ้น อีกสักหน่อยเราคงกลายเป็นโอเอซิส (Oasis) ที่จะไม่ได้พูดถึงแค่เพียงต้นไม้หรือธรรมชาติ แต่เป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ อนุรักษ์วัฒนธรรม กับสิ่งที่เราไม่ได้เปลี่ยนสภาพไปอย่างสิ้นเชิง เป็นใจกลางพัฒนาในรูปแบบที่ยั่งยืน

ทัศนคติการทำธุรกิจ สู่ความสำเร็จของเก๊าไม้ เอสเตท 1955 หรือเก๊าไม้ล้านนา

“ผมว่าทุกอย่างคือการเรียนรู้ เราต้องพร้อมเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ อยู่เสมอ เพราะผมเชื่อว่าไม่มีอะไรที่เราเรียนรู้ไม่ได้ ผมเรียนศิลป์คำนวณ แล้วผมก็ชอบต้นไม้ ผมเอาสิ่งที่เรียนรู้ใหม่มาผสมผสานให้เกิดคุณค่า การบริหารธุกิจที่ไม่ได้คิดว่ากำไรสำคัญที่สุด กำไรต่อสาธารณะก็มี แต่ธุรกิจก็ต้องรอดเช่นกัน ความรู้ใหม่ ๆ สิ่งใหม่ ๆ ที่ต้องเผชิญคิดว่าไม่มีอะไรที่เราเรียนรู้ไม่ได้ เพียงใช้เวลาศึกษานิดหน่อย”

คุณจักร์ เชิดสถิรกุล (Project Manager) เก๊าไม้ล้านนา

 

เมื่อได้ทำความรู้จักโครงการเก๊าไม้ เอสเตท 1955 (Kaomai Estate 1955) หรือเก๊าไม้ล้านนา ก็จะเห็นว่าที่นี่เป็นธุรกิจที่มีความหลากหลายแต่เน้นคุณภาพ ทุกโปรเจกต์ผ่านการคิด วิเคราะห์ และพัฒนาอย่างตั้งใจ ทำให้ผลของความสำเร็จปรากฏออกมาให้เห็นด้วยตาเปล่า นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันพื้นที่แห่งนี้ยังคงเป็นที่นิยมและมีผู้คนแวะเวียนเข้ามาจิบกาแฟ ถ่ายภาพ นอนค้างที่รีสอร์ทอยู่เสมอ สำหรับใครที่ชื่นชอบแหล่งท่องเที่ยวใกล้ชิดกับธรรมชาติหรือหาที่นั่งพักใจ มีเครื่องดื่มและขนมหวานยามว่าง เก๊าไม้ล้านนาก็เป็นพื้นที่เขียวขจีที่ทีมงานไม่อยากให้พลาด

สุดท้ายใครที่กำลังมองหาแนวทางในการเริ่มต้นประกอบธุรกิจด้านอสังหาฯ หรือธุรกิจอื่น ๆ สามารถนำเรื่องราวในบทความสัมภาษณ์ข้างต้นมาเป็นแรงบันดาลใจได้ สามารถติดตามและอ่านบทสัมภาษณ์ นักธุรกิจและอินฟลูเอนเซอร์ท่านอื่นต่อได้ที่ สาระอสังหา หรือ Facebook : สาระอสังหา

About author

เป็นนักการตลาดออนไลน์ เสพติดข่าวสาร กฎหมาย สังคม เศรษฐกิจโลกและแวดวงอสังหาฯ เชื่อว่าเรื่องราวที่ได้รู้มีบทเรียนชีวิตแฝงอยู่ให้เราเสมอ

หมวดหมู่