top

ประชาสัมพันธ์

ประชาสัมพันธ์ บทสัมภาษณ์ พลิกชีวิตโกดังแปรรูปผลไม้เก่าให้เป็น ‘กาดเกรียงไกรมาหามิตร’ แหล่งรวมเครื่องดื่ม อาหาร งานคราฟท์สวย ๆ
พามาแอ่ว กาดเกรียงไกรมาหามิตร จ.เชียงใหม่

ในอดีตผลไม้แปรรูปถูกจัดให้เป็นวัตถุดิบที่อยู่ในความนิยมลำดับต้น ๆ เนื่องจากเป็นกระบวนการที่สามารถเก็บรักษาผลผลิตได้นาน ทั้งยังเปลี่ยนรสชาติให้ต่างออกไป “เกรียงไกรผลไม้” โรงงานแปรรูปผลไม้ขนาดใหญ่ จ.เชียงใหม่ ที่เริ่มก่อตั้งและเปิดบริการร้านค้าเรื่อยมานับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 มีผลผลิตเป็นผัก ผลไม้ แปรรูปให้อยู่ในรูปแบบของการอบแห้ง แช่อิ่ม ไปจนถึงการดอง มีสินค้าหลักเป็นกระเทียมดอง กระเทียมโทนดอง ลูกท้อ เชอร์รี่ ที่เฟื่องฟูเรื่อยมาตามกาลเวลา จนเปลี่ยนมือเจ้าของใหม่ในปี พ.ศ. 2560 คุณเนรมิต สร้างเอี่ยม (ตุ้ย) วิศวกรและนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เมืองกรุงฯ ที่เปลี่ยนสถานะจากลูกค้าเกรียงไกรผลไม้สู่ผู้พัฒนาต่อ จนเกิดเป็นคอมมูนิตี้สเปซ กาดเกรียงไกรมาหามิตร kadkriengkrai (กาด ภาษาเหนือ หมายถึงตลาด) ที่เปิดโอกาสให้ พ่อกาด (พ่อค้า) แม่กาด (แม่ค้า) ผู้คนในพื้นที่ใกล้เคียงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งเพื่อการกระจายรายได้สู่ชุมชน

จุดเริ่มต้นโรงงานแปรรูปผลไม้เล็ก ๆ สู่อุตสาหกรรมใหญ่ ศูนย์รวมของฝากระดับท็อปของเชียงใหม่

เกรียงไกรผลไม้

โรงงานเกรียงไกรผลไม้ ก่อตั้งขึ้นปี พ.ศ. 2524 เดิมทีเปิดโกดังให้เป็นแหล่งผลิตเพียงอย่างเดียว โดยมีภาชนะเคลือบดินเผา ลักษณะปากและก้นเล็ก ส่วนกลางป่อง หรือเรียกกันทั่วไปว่า ไห เป็นภาชนะหลักที่ใช้ในการดองผลิตผลทางการเกษตร ซึ่งไหหนึ่งใบสามารถบรรจุวัตถุดิบได้ 12 – 15 กก. จัดวางด้วยการตั้งไหเรียงขึ้นไปแบบขั้นบันได 15 ชั้น ถือเป็นศาสตร์และศิลป์ในการวาง นอกจากความสวยงามแล้วยังสามารถรองรับน้ำหนักไหแต่ละชั้นได้อย่างพอดี

โรงงานเกรียงไกรผลไม้

เป็นปกติที่โกดังเก็บผลผลิตทางการเกษตรต้องมีขนาดกว้างและสูงโปร่ง หากลองจินตนาการถึงขั้นตอนการสร้างในอดีต นานวันกว่าจะสำเร็จจนกลายมาเป็นอาคารขนาดใหญ่ ต้องใช้ทั้งวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักร รวมถึงแรงงานคนค่อนข้างมาก

จุดเด่นของโกดังจะสังเกตเห็นได้ตั้งแต่สภาพแวดล้อมและการออกแบบ อาคารด้านข้าง (ส่วนบน) ถูกดีไซน์ให้เป็นบล็อกช่องลม 2 ชั้น เพื่อให้ความร้อนภายในลอยตัวขึ้นด้านบนและออกไปทางช่องลม ตั้งใจให้ผนังทั้งสองฝั่งเป็นทิศทางที่ลมสามารถพัดผ่านระบายอากาศได้

ช่วงเวลาต่อมาเกรียงไกรผลไม้ได้มีการปรับปรุงและพัฒนารูปแบบการผลิตให้เป็นอุตสาหกรรมมากขึ้น เปลี่ยนภาชนะในการดองเป็นถังไฟเบอร์กลาสที่สามารถบรรจุผลผลิตได้ 250 กก. (มากกว่าเดิม 20 เท่า) ในเมื่อไหไม่ได้ถูกใช้งานจึงนำไปแบ่งขายและแจกจ่ายให้ชาวบ้านพื้นที่ใกล้เคียง จนกระทั่งคุณตุ้ย เนรมิต สร้างเอี่ยม เข้ามาซื้อกิจการและรับมือดูแลต่อในปี พ.ศ. 2560 ได้เล็งเห็นความสำคัญของการนำภูมิปัญญากลับมาใช้งาน ได้มีการประกาศขอซื้อไหกลับมาได้ประมาณ 2,000 – 3,000 ใบ ทดสอบการใช้งาน ซ่อมแซม แล้วนำกลับมาดองผลิตภัณฑ์กระเทียมโทน

เปลี่ยนโกดังเก่าให้อยู่ในเทรนด์ ‘กาดเกรียงไกรมาหามิตร’ สเปซที่กระจายรายได้สู่ชุมชน

กาดเกรียงไกรมาหามิตร เชียงใหม่

เดิมทีคุณตุ้ยประกอบอาชีพเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อยู่ที่ จ.กรุงเทพฯ การซื้อกิจการในปี พ.ศ 2560 ทำให้ต้องบินไปกลับระหว่างกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ อยู่เรื่อย ๆ มาจนกระทั่ง 3 ปีหลัง ได้เกิดความคิดอยากพัฒนาโกดังเก่าที่ปิดทิ้งไว้ใช้เป็นพื้นที่เก็บของ มองหาช่องทางในการสร้างประโยชน์ให้กับโรงงาน สังคม และสามารถสร้างรายได้ในบั้นปลายชีวิต (ตั้งใจย้ายมาอยู่ที่เชียงใหม่) หลังคลุกคลีอยู่กับผลิตผลการเกษตร จึงเริ่มด้วยการตั้งโจทย์ที่ว่า “ทำไมเกษตรกรบ้านเราไม่ค่อยรวย แถมยังเป็นหนี้ซะมากกว่า ค้าขายอะไร กลายเป็นกำไรไปตกที่พ่อค้าคนกลาง” การตั้งคำถามกับตัวเองในครั้งนั้น กลายเป็นจุดเริ่มต้นจนเกิดเป็นกาดเกรียงไกรมาหามิตรในวันนี้

กาดเกรียงไกรเชียงใหม่

เล่าย้อนมาในช่วงแรก คุณตุ้ยที่มองเห็นความเป็นเอกลักษณ์ของโกดัง ทั้งความกว้างใหญ่ของอาคาร งานก่อสร้างทางสถาปัตยกรรมที่ทำได้ค่อนข้างยากในยุคสมัยก่อน ๆ ก็เริ่มออกแบบแผนผังเพื่อใช้ประโยชน์พื้นที่ว่าง ด้วยการวางคอนเซ็ปต์ Adaptive Reuse ปรังปรุงให้ดูดีและสะอาดตามากขึ้น ถัดมาจึงวางแนวคิด โดยมีใจความว่า “เกษตรกรปลูกคุณภาพ เกรียงไกรเพิ่มมูลค่า ผู้บริโภคมีกินตลอดปี” การพัฒนาครั้งใหญ่จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหนหรือทำอะไรได้บ้าง

Komegura โกเมะกุระ

จากความตั้งใจทำร้านกาแฟพร้อมกับการทำร้านขนมเล็ก ๆ ในเวลาต่อมาก็ได้เคาะคอนเซ็ปต์พร้อมชื่อร้านกาแฟ “Komegura” ตัวร้านจะเป็นการยกยุ้งเก็บข้าวหลังเก่า ‘หลองข้าว’ มาสร้างเสน่ห์แบบไทย ๆ ตกแต่งใหม่สไตล์ญี่ปุ่น ส่วนร้านขนมใช้ชื่อว่า “มินิม่วน” เกิดจากคำว่า มินิ (Mini) และม่วนที่แปลว่าสนุกสนานในภาษาเหนือ แต่พื้นที่โกดังก็ยังเหลือมากเพียงพอให้ใช้ประโยชน์ด้านอื่น ๆ ได้ คุณตุ้ยเสนอไอเดียดี ๆ ชวนชุมชนรอบโลเคชัน อ.แม่ริม และพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับโรงงานเกรียงไกรผลไม้ โดยมีเกณฑ์หลักเพียงแค่ พ่อกาด แม่กาด แต่ละร้านสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ขึ้นมาใหม่ ไม่ใช่การรับมาขายต่อ และที่สำคัญสินค้าต้องมีเอกลักษณ์ ทำอะไรดี ทำอะไรอร่อย ก็จะคอยช่วยคอมเมนต์กันและกัน

มินิม่วน เชียงใหม่

เมื่อถึงคราวที่สมาชิกพร้อม สถานที่พร้อม ก็เป็นฤกษ์ดีที่ “กาดเกรียงไกรมาหามิตร” เปิดบริการครั้งแรกในช่วงปลายปี พ.ศ. 2564 “เกรียงไกร ยกคำนี้มาเพราะอยากให้เกียรติเจ้าของสถานที่ เจ้าของเดิมเกรียงไกรผลไม้ ส่วนคำว่ามาหามิตร เหมือนการมาหา มาพบเจอกัน ‘มหามิตร’ คือมิตรที่ใหญ่ มิตรกลุ่มใหญ่” คอมมมูนิตี้สเปซที่ให้ลูกค้าเข้ามาเยี่ยมชม ชอปปิงสินค้า เดินเที่ยวพักผ่อนชิลล์ ๆ

กาดเกรียงไกรมาหามิตร

สักพักเริ่มมีกลุ่มพันธมิตรเพิ่มก็ได้ขยับขยายโกดังข้าง ๆ ให้เป็น “มาหามิตรนะคร้าฟท์” พื้นที่เปิดโอกาสให้ศิลปินทั้งรุ่นเล็กและรุ่นใหญ่ได้มาแสดงผลงาน ‘งานคราฟท์’ กำหนดช่วงเวลาเปิดโกดังเป็นวันหยุดเสาร์ – อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ซึ่งช่วงไฮซีซั่น (high season) เดือนพ.ย. – ม.ค. อาจมีการขยายเวลาเปิดทำการ เพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางเลือกเพื่อการเดินทางมาพักผ่อนในวันหยุดยาว

หากยังลังเลว่ามาที่กาดเกรียงไกรแล้วจะได้อะไรกลับไป ต้องบอกเลยว่านอกจากการพักผ่อนหรือเลือกซื้อสินค้างานคราฟท์แล้ว ถ้าสังเกตและมองให้ลึกลงไปจะเห็นถึงความตั้งใจของทีมงานรุ่นเก๋าวัย 60 ปี “ยะด้วยใจ๋” ทุก ๆ งานบริการของที่นี่จะมีคำนิยามข้างต้นที่ใช้เป็นแกนกลางของการทำธุรกิจ เพื่อให้ผู้บริโภคหรือลูกค้าได้สัมผัสถึงสิ่งที่ทำด้วยใจ และต้องบอกว่าอายุเป็นเพียงแค่ตัวเลขเท่านั้น เพราะทุกคนทำงานด้วยใจ ออกแบบด้วยมือ จึงถือเป็นจุดเด่นของกาดที่คนเข้ามาจะสัมผัสได้พร้อมรับประสบการณ์ดี ๆ กลับไป

ยะด้วยใจ๋ กาดเกรียงไกรมาหามิตร

Q&A คุณตุ้ย – เนรมิตจากบทบาทนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์สู่ผู้ก่อตั้งกาดเกรียงไกรมาหามิตร

ตัวอาคารเก่ามีการวางคอนเซ็ปต์รีโนเวทส่วนไหนบ้าง?

: เป็นการรีโนเวทแบบเน้นให้ตัวอาคารคงสภาพเดิมให้มากที่สุด Adaptive Reuse กับสถาปนิก “pommballstudio” ที่เป็นช่างท้องถิ่นเชียงใหม่ ช่วยเพิ่มฟังก์ชันใหม่ ๆ ให้โกดัง เราก็ซ่อมแซมหลังคา ปิดตาข่ายไม่ให้นกเข้ามาทำรังได้ ไล่ทำความสะอาดทั้งหมด เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจว่าจะไม่ถูกนกและฝุ่นเข้ามารบกวน

ขยายความการสนับสนุนซึ่งกันและกันระหว่าง ‘เกษตรกร’ กับ ‘เกรียงไกรผลไม้’ เป็นลักษณะไหน?

: เมนูอาหารและเครื่องดื่มจากร้านกาแฟ ‘Komegura’ ร้านขนม ‘Minimuan’ ส่วนหนึ่งมาจากผลผลิตของโรงงานเกรียงไกรผลไม้ รวมถึงการสนับสนุนเกษตรกร ด้วยการรับซื้อผัก ผลไม้คุณภาพมาแปรรูป สร้างความหลากหลายในการบริโภคและเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรด้วย

โดยเฉลี่ยลูกค้าเป็นกลุ่มคนวัยไหน ต่างชาติหรือคนไทย?

: กาดเกรียงไกรมาหามิตรเปิดเดือน พ.ย. 2564 เป็นจังหวะเดียวกันที่ COVID 19 กลับมาระบาดอีกครั้ง หลัก ๆ จึงเป็นลูกค้าจากภายในประเทศ แต่ก็ยังมีชาวต่างชาติอยู่บ้างเรื่อย ๆ โดยช่วงอายุก็จะค่อนข้างหลากหลาย วัยเรียน วัยทำงาน ไปจนถึงวัยเกษียณซึ่งเป็นลูกค้าของเกรียงไกรผลไม้ด้วย

หน่วยงาน/บุคคลภายนอกสามารถเข้ามาเช่าพื้นที่โกดังได้หรือไม่?

: ยินดีครับ ในส่วนของโกดังที่ผ่านมาก็มีอีเวนต์อยู่เรื่อย ๆ แต่ก็จะมีการแบ่งระยะเวลาชัดเจน ไม่ได้จัดชนกัน ทิ้งช่วงให้ทางเราเคลียร์และดูแลสถานที่ด้วย

แผนการพัฒนากาดเกรียงไกรในอนาคตจะเป็นไปในทิศทางไหน?

: จริง ๆ แล้ว ตั้งแต่ปรับปรุงโกดังมาจนถึงปัจจุบัน เราไม่เคยหยุดพัฒนาเลย เพราะเวลาทำอะไรก็จะมีการลองผิดลองถูก “การติดกระดุมเม็ดแรก ถ้าติดไม่ตรงแถวอื่นก็จะเบี้ยว” เริ่มทำอะไรก็ต้องวางคอนเซ็ปต์ พร้อมทั้งวาดแผนและปรับกันไป หาจุดที่พอดี ลงตัว แล้วทำให้สมบูรณ์มากขึ้นเรื่อย ๆ

คุณตุ้ย เนรมิตร สร้างเอี่ยม

 

เป็นเวลาเกือบ 42 ปี ที่ผลผลิตทางการเกษตรอย่าง กระเทียม สามารถไกด์ให้เกรียงไกรผลไม้เดินทางมาได้ไกล จนกลายมาเป็นข้อจุดประกายในการส่งเสริมเกษตรกร เกิดเป็นกาดเกรียงไกรมาหามิตร และมาหามิตรนะคร้าฟท์ พื้นที่สำหรับคนรักงานคราฟท์ในปัจจุบัน ซึ่งทั้งหมดก็เป็นผลพวงมาจากความตั้งใจย้ายมาอยู่ที่เชียงใหม่ของคุณตุ้ย ควบคู่กับความคิดที่ไม่หยุดพัฒนาตามสไตล์ผู้พัฒนาฯ สำหรับใครมีแพลนเดินทางมาเที่ยวชมหมอกหนา ๆ หน้าหนาวที่เมืองเหนือ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ พามิตรมาแวะชอปปิงที่กาดเกรียงไกรก็เป็นทางเลือกที่ดี

สุดท้ายใครที่กำลังมองหาแนวทางในการเริ่มต้นประกอบธุรกิจด้านอสังหาฯ หรือธุรกิจอื่น ๆ สามารถนำเรื่องราวในบทความสัมภาษณ์ข้างต้นมาเป็นแรงบันดาลใจได้ สามารถติดตามและอ่านบทสัมภาษณ์ นักธุรกิจและอินฟลูเอนเซอร์ท่านอื่นต่อได้ที่ สาระอสังหา หรือ Facebook : สาระอสังหา

หมวดหมู่