เงินเฟ้อคืออะไร ส่งผลกระทบต่อประชาชน ผู้ประกอบการ และประเทศด้านใด?
“ตั้งใจออมเงินไว้ใช้ในอนาคต” เป็นประโยคที่คุ้นหูใครหลายคน แต่ปัจจุบันแค่การออมเงินอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต เพราะ เงินเฟ้อ หรือสภาวะที่ข้าวของเครื่องใช้ ราคาวัตถุดิบต่าง ๆ มีราคาแพงขึ้น ทำให้การใช้เงิน 100 บาทในอดีตไม่เท่ากันกับตอนนี้ และเมื่อเงินในมือมีค่าลดลง จึงทำให้เงินจำนวนเท่าเดิมอาจซื้อสินค้าได้น้อยกว่าเดิม หรืออาจไม่เพียงพอเลยก็ว่าได้ แล้วเงินเฟ้อคืออะไร ทำไมเงินในมือถึงมีค่าลดลงทุกปี มีผบกระทบต่อใครบ้าง มาหาคำตอบกัน
ภาวะเงินเฟ้อ คืออะไร ปัจจัยใดที่ทำให้เงินบาทในมือมีค่าน้อยลง
เงินเฟ้อ (Inflation) คือ สภาวะที่สินค้าหรือบริการในสังคม/ประเทศ เกิดการปรับตัวสูงขึ้น หรือในทางตรงกันข้าม คือ ทำให้มูลค่าเงินของเรามีค่าน้อยลง ซึ่งสาเหตุการเกิดเงินเฟ้อสามารถแบ่งเป็นสองปัจจัยหลัก ๆ คือ
- Cost-Push สินค้าและบริการแน่นอนว่าต้องมีต้นทุน แต่เมื่อไหร่ที่ต้นทุนสูงขึ้น จำเป็นต้องปรับราคาขายให้สูงขึ้นสอดคล้องตามเพื่อหนีจากการขาดทุน
- Demand-Pull เกิดจากความต้องการซื้อมาก แต่จำนวนผลิตภัณฑ์ตามท้องตลาดมีน้อย จึงเกิดการปรับราคาสูงขึ้น
เงินเฟ้อ ผลกระทบต่อประชาชนทั่วไปอย่างไร
ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2565 จะเห็นได้ว่าหลายสำนักข่าวหยิบเรื่องราคาวัตถุดิบอย่าง หมูสด ไข่ไก่ มาม่าที่มีราคาสูงขึ้นมานำเสนอ เกิดเป็นหัวข้อเพื่อการวิพากษ์วิจารณ์กันในทิศทางต่าง ๆ แต่ทั้งนี้ทุกอย่างมีสาเหตุการเกิดนั่นเพราะการมีเงินเฟ้อในระบบ ทำให้สินค้าและบริการหลาย ๆ ประเภทมีราคาสูงขึ้น ซึ่งสินค้าเหล่านี้กลับเป็นความต้องการของคนส่วนมากจึงกระทบต่อภาพรวมทั้งหมด เนื่องจากรายได้ของแต่ละครัวเรือนที่ไม่เท่ากัน ทำให้กระทบการดำรงชีวิตของใครหลายคนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่น ค่าใช้จ่ายส่วนตัวคิดเป็น 30,000 บาท/เดือน หากอนาคตอีก 20 ปีที่เงินเฟ้อไทยอยู่ประมาณ 3% อาจต้องใช้เงินมากขึ้น ในขณะที่ซื้อของเหมือนเดิม คุณภาพชีวิตเหมือนเดิม (เงินเฟ้อทั่วไปประมาณ 3% / เงินเฟ้อเพื่อการใช้ชีวิตนอกบ้าน ร้านอาหาร 5% / ค่ารักษาพยาบาล 8 – 9%)
เงินเฟ้อ ผลกระทบต่อภาคธุรกิจอย่างไร
แน่นอนว่าสภาวะเงินเฟ้อก่อนจะกระทบถึงประชาชน เจ้าของธุรกิจ นักธุรกิจ ผู้ประกอบการเองก็ต้องรับแรงกระแทกของเศรษฐกิจอย่างเห็นผลได้ชัด
- สินค้า บริการมีราคาแพงขึ้น แต่ยอดขายและรายได้ไม่ได้สม่ำเสมอตลอดไป
- เมื่อสินค้ามีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น อาจส่งผลต่อการตัดสินใจในการชะลอการผลิต ลดต้นทุนในการจ้างพนักงาน ทำให้คนตกงานและว่างงานเพิ่มมากขึ้น
- ความสามารถในการแข่งขันภาคธุรกิจในประเทศไทยลดลง เพราะราคาสินค้าสูงขึ้น เมื่อเทียบกับสินค้าส่งออกประเทศอื่น ๆ
เงินเฟ้อ ผลกระทบต่อประเทศอย่างไร
เงินเฟ้อยังกระทบไปถึงภาพรวมด้านเศรษฐกิจของประเทศในหลาย ๆ ด้าน
- เมื่อสินค้าแพง แรงจูงใจให้ประชาชนออกมาใช้จ่ายน้อยลง ส่งผลกระทบต่อธุรกิจต่าง ๆ การผลิตสินค้าถูกชะลอ ทำให้การพัฒนาศักยภาพการผลิตของประเทศในระยะยาวถูกชะลอลงไปเช่นเดียวกัน
- ประชาชนให้ความสนใจการเก็งกำไรเกี่ยวกับสินทรัพย์ความเสี่ยงสูง เกิดปัญหาฟองสบู่ในสินทรัพย์ต่าง ๆ (asset price bubble) ความไม่สมดุลในภาคการเงินของประเทศ เช่น หนี้ครัวเรือน
ต้องรับมือกับสภาวะ “เงินเฟ้อ” ด้วยวิธีไหน?
ปัญหาที่น่าเป็นห่วงคือค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีวิธีที่พอบรรเทาสถานการณ์ได้บ้าง เช่น ยึดงานประจำเดิมไว้ก่อน (ลาออกแบบมีงานสำรอง) ผู้ทำธุรกิจต้องวางแผนการลงทุนให้ดีก่อนจะคิดเติบโต Next Step หรือเปลี่ยนวิธีการใช้เงินโดยไม่ลืมคำนึงถึงรายจ่ายประจำ ลดการก่อหนี้เพิ่ม มีวิธีเก็บเงิน-ออมเงินที่ใช้แล้วสร้างระเบียบได้จริง รวมถึงการหาแนวทางเพิ่มรายได้ แต่หากยังไม่รู้ว่าจะลงทุนอะไรดี ควรศึกษาการลงทุนจากหลาย ๆ วิธี แล้วเลือกวิธีที่เข้าใจที่สุด ถนัดที่สุด
เราควรตระหนักเรื่องของเงินเฟ้อ ติดตามความเคลื่อนไหว ทิศทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสถานการณ์ที่ควบคุมได้ยาก เช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทั้งยังมีความจำเป็นอย่างมากเพื่อการวางแผนการเงินที่ดี เพราะสินค้าที่เพิ่มราคาขึ้น 1 – 2 บาทอาจดูน้อยนิด แต่ในความเป็นจริงแล้วหมายความว่าเราจ่ายของแพงขึ้นแบบไม่รู้ตัว ไม่มองเพียงเงินบาทอย่างเดียวแต่พยายามมองให้ลึกถึงเงินเฟ้อหรือ Percentage ให้ทราบว่าเติบโตขึ้นเท่าไร แล้วนำไปวางแผนทางการเงินได้อย่างรอบคอบ