เครดิตบูโรคืออะไร ติดอยู่กู้ได้ไหม ไม่เคยติดจะกู้ง่ายขึ้นหรือไม่?
การขอสินเชื่อเพื่อกู้ซื้อบ้านในบางครั้งอาจไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะก่อนที่ทางธนาคารจะอนุมัติวงเงินให้เราได้ อย่างน้อยก็ต้องผ่านการตรวจสอบประวัติหนี้และพฤติกรรมการใช้เงินต่าง ๆ ของเรา เพื่อมั่นใจได้ว่าสามารถชำระคืนได้ตรงเวลา ในขณะเดียวกันหลายคนก็อาจจะเพิ่งทราบว่าตนเองติดเครดิตบูโรอยู่ จึงเกิดคำถามมากมายที่ต้องการทราบ สาระอสังหา แชร์ข้อมูลเครดิตบูโรคืออะไร ลักษณะการทำงานขององค์กรที่มีผลต่อการกู้ พร้อมบอกสถานที่ตรวจสอบเครดิตบูโรง่าย ๆ ที่ทำได้ด้วยตัวเอง
เครดิตบูโร คือ อะไร?
เครดิตบูโร คือ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (National Credit Bureau) ที่จัดตั้งตั้งขึ้นมาเพื่อบันทึกประวัติของลูกค้า ทั้งลักษณะ Bank และ Non-Bank มีหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการเก็บข้อมูลที่ทำให้ทราบว่าลูกค้ามีหนี้ที่ค้างชำระที่ส่วนไหนบ้าง และมีพฤติกรรมการชำระหนี้อย่างไร โดยองค์กรเปรียบเสมือนโครงสร้างพื้นฐานในกรณีที่เป็นระบบสถาบันการเงิน เพื่อให้ทางธนาคารได้ตรวจสอบว่าบุคคลนั้น ๆ เคยผิดนัดชำระหนี้หรือไม่ หรือหากไม่เคยผิดชำระหนี้เลย ทางธนาคารก็จะมีความมั่นใจในการปล่อยสินเชื่อให้ โดยต้องดูจากศักยภาพควบคู่กันไป นั่นคือ รายได้ที่สม่ำเสมอและประวัติการออมเงิน ถึงแม้บุคคลนั้น ๆ ไม่เคยมีหนี้เลย แต่เพื่อเป็นการยืนยันว่าเป็นบุคคลที่มีรายได้เพียงพอก็ต้องพิจารณาทรัพย์สินและเงินออมด้วยเช่นกัน
ข้อมูลเครดิตบูโรแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1.ข้อมูลบ่งชี้ถึงตัวตนลูกค้า เช่น ข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไป ชื่อ-สกุล เป็นต้น
2.ข้อมูลเกี่ยวกับสินเชื่อที่ได้รับการอนุมัติ เช่น การกู้สินเชื่อจากสถาบันการเงิน สินเชื่อบ้าน บัตรเครดิต จะถูกส่งไปที่ NCB
เหตุผลที่ธนาคารต้องตรวจสอบเครดิตบูโรก่อนอนุมัติสินเชื่อ
เนื่องจากธนาคารต้องตรวจสอบว่าพฤติกรรมผู้กู้ว่าเป็นลูกหนี้ที่ดีไหม เป็นลูกค้าที่สามารถชำระเงินได้ตรงเวลาหรือไม่ กล่าวคือ เมื่อต้องการกู้ซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือแม้กระทั่งทำบัตรเครดิต จะได้รับเอกสาร Application เพื่อให้ตัวผู้กู้เซ็นเปิดเผยเครดิตบูโร ว่าเคยเป็นหนี้ที่ไหนบ้าง ชำระเป็นอย่างไร ซึ่งการตรวจสอบเครดิตบูโรทางธนาคารจะทำการพิจารณาว่าถ้าลูกค้ามีพฤติกรรมการใช้เงินที่ดี มีการชำระที่ตรงเวลา จะทำให้ตัวเรากลายเป็นผู้ที่มีเครดิตดี หรือเรียกว่าสามารถกู้สินเชื่อได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
แต่ถ้าหากผู้กู้มีภาระเยอะ ทางธนาคารเองก็จะสามารถตรวจสอบได้จากบัญชีว่ามีภาระมากกว่ารายได้หรือเปล่า มีพฤติกรรมการใช้เงินเป็นอย่างไร หรือภาระหนี้ที่สูงเกินไปก็มีผลต่อการกู้สินเชื่อมาก-น้อยเท่าไหร่ โดยที่ทางธนาคารจะพิจารณาว่ามีหนี้เยอะมากเกินตัว อาจส่งผลให้กลายเป็นลูกหนี้ที่มีปัญหาในอนาคตได้
การติดเครดิตบูโรคือออะไร?
การติดเครดิตบูโร หมายถึงผู้กู้ชำระหนี้ไม่ตรงเวลา ซึ่งถ้าชำระช้ากว่าเวลา 1-2 วันก็อาจไม่กระทบมาก แต่อย่างไรก็ควรจ่ายให้ตรงเวลาเป็นดีที่สุด หรือเลือกจ่ายเงินขั้นต่ำ ดีกว่าจ่ายเต็มจำนวนแล้วชำระไม่ไหว/ไม่ตรงเวลา ก็จะส่งผลต่อการพิจารณาการปล่อยสินเชื่อของทางธนาคาร (ควรรักษาเครดิตให้ดีโดยการจ่ายตรงเวลาและที่สำคัญไม่ควรมีหนี้มากจนส่งผลต่อการชำระหนี้ที่เป็นไปด้วยความยากลำบาก)
หากไม่เคยติดเครดิตบูโรจะช่วยให้การกู้ง่ายขึ้นไหม?
การที่ผู้ยื่นกู้ไม่เคยเป็นหนี้เลย ไม่ได้การันตีได้ว่าทางธนาคารจะพิจารณาอนุมัติให้เราง่ายกว่าผู้กู้รายอื่นที่มีหนี้สินเยอะ เพราะทางธนาคารไม่ทราบถึงพฤติกรรมการใช้เงินที่แน่ชัดของเรา ซึ่งโดยปกติแล้วเครดิตบูโรจะเริ่มตรวจสอบได้ก็ต่อเมื่อเราเป็นหนี้หรือเปิดบัตรเครดิต จะทำให้มีข้อมูลเครดิตบูโรปรากฏในระบบ แต่ถ้าไม่เคยเป็นหนี้หรือเปิดบัตรเครดิตเลยประวัติผู้กู้ก็จะใสสะอาด ธนาคารส่วนใหญ่จะพิจารณาคนที่มีเครดิต รู้พฤติกรรม รู้การชำระเงินจะส่งผลให้สบายใจมากกว่าเมื่อต้องปล่อยสินเชื่อให้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะกู้ไม่ได้ เพียงการขออนุมัติอาจมีการยื่นขอเอกสารเยอะหรือทำได้ยากกว่าคนที่มีเครดิตและเป็นเครดิตที่ดี
หากติดเครดิตบูโรยังสามารถกู้ได้ไหม?
ส่วนใหญ่ไม่สามารถกู้ได้ โดยเฉพาะสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ใครที่เครดิตไม่ดีพอ ธนาคารมีโอกาสปฏิเสธสินเชื่อบ้านสูง จึงจำเป็นต้องรอให้ผ่าน 3 ปี เครดิตที่เคยติดบูโรประกอบกับผู้กู้มีพฤติกรรมการชำระเงินที่ดีขึ้น ธนาคารจะพิจารณาในการปล่อยสินเชื่อใหม่ (องค์กรเครดิตบูโรจะเก็บข้อมูลของลูกค้าไว้ 3 ปี) หากมีการปิดบัญชีไปในลักษณะที่เคยติดเครดิตบูโร แต่ชำระจนครบเรียบร้อยแล้ว ข้อมูลส่วนนี้ก็จะอยู่ในระบบ 3 ปีและหายไป หรืออีกหนึ่งกรณีที่ยังไม่มีการปิดบัญชี แต่มีการชำระอยู่อย่างสม่ำเสมอ ข้อมูลจะปรากฏอยู่ 5 ปี ดังนั้น สำหรับผู้ที่เคยติดเครดิตบูโรก็ควรปรับพฤติกรรมทำให้ทางธนาคารเห็นว่ารามีพฤติกรรมเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ชำระหนี้ที่เคยค้างจ่ายไว้ และใช้เงิน-จ่ายเงินให้ตรงเวลา ก็จะช่วยในการกู้สินเชื่อครั้งใหม่ได้
สามารถตรวจสอบเครดิตบูโรได้ที่ไหน?
ในกรณีต้องการยื่นกู้สินเชื่ออยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องตรวจสอบด้วยตัวเอง เนื่องจากทางธนาคารจะมีเอกสารให้ผู้ต้องการกู้เซ็นยินยอมให้ตรวจสอบเครดิตบูโร แต่หากกรณีที่เราต้องการทราบด้วยตัวเองว่าเครดิตบูโรของเราเป็นอย่างไรบ้าง ก็สามารถตรวจสอบได้หลากหลายช่องทาง ทั้งการ Walk-in ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร ซึ่งเอกสารที่ใช้มีเพียงบัตรประจำตัวประชาชนเท่านั้น
สถานที่ตรวจเครดิตบูโร
1.ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร
(เปิดบริการ จันทร์-ศุกร์)
- ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (สำนักงานใหญ่) อาคาร 2 ชั้น 2
- เครดิตบูโรคาเฟ่ อาคารเพิร์ล แบงก์ค็อกชั้น3 (โซนธนาคาร) BTS สถานีอารีย์ ทางออก1
- ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร BTS ศาลาแดง (ภายในสถานี)
- ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร BTS ภายในสถานีรถไฟฟ้าอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
(เปิดบริการ จันทร์-อาทิตย์)
- ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร BTS หมอชิต
- ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร ห้างเจ-เวนิว (นวนคร) ชั้น 3 ติดกับประกันสังคม
(พนักงานประจำที่ไม่สะดวกเดินทาง เปิดเฉพาะ เสาร์-อาทิตย์)
- ตรวจเครดิตบูโรได้ที่ห้างเดอะมอลล์-บางกะปิ (CITI)
- ตรวจเครดิตบูโรได้ที่ห้างเซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต บางใหญ่ (UOB)
2.เคาน์เตอร์ธนาคาร
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา / ธนาคารกรุงไทย / ธนาคารธนชาต / ธนาคารอาคารสงเคราะห์ / ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ / ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
3.ธนคารออนไลน์ Internet Banking
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา / ธนาคารกรุงไทย
4.ธนาคารมือถือ Mobile Banking
- ธนาคารกรุงไทย รับรายงานทางอีเมลภายใน 1 วัน / ทางไปรษณีย์ (ไม่ลงทะเบียน) ภายใน 7 วันทำการ
- ธนาคารทหารไทย ธนชาต รับรายงานทางอีเมลภายใน 3 วัน / ทางไปรษณีย์ (ลงทะเบียน) ภายใน 7 วันทำการ
- ธนาคารธนชาต ทางไปรษณีย์ (ลงทะเบียน) ภายใน 7 วันทำการ
- ธนาคารเกียรตินาคิน รับรายงานทางอีเมลได้ทันที
5.ตู้ ATM ของธนาคารกรุงไทยและไทยพาณิชย์
6.ที่ทำการไปรษณีย์ 291 สาขาทั่วประเทศ
สุดท้ายนี้ เชื่อว่าหลายคนคงได้เข้าใจในความหมาย หลักการทำงานขององค์กรเครดิตบูโรกันไปบ้างแล้ว อาจทำให้ทราบข้อเท็จจริงในหลาย ๆ เรื่องมากขึ้น เช่น เรื่องความเข้าใจผิดที่คิดว่าทางธนาคารเป็นผู้ขึ้นบัญชีดำ (แบล็คลิส) แท้จริงแล้วเป็นเพียงการพิจารณาข้อมูลจากองค์กรเครดิตบูโรเพื่อการอนุมัติสินเชื่อเท่านั้น ส่วนใครที่ติดเครดิตบูโรอยู่ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายและการชำระหนี้ให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อผลดีในอนาคตนั่นเอง