top

การเงิน-การลงทุน

การเงิน-การลงทุน 4 วิธีเก็บเงิน เริ่มต้นไม่ยาก อยากมีเก็บ-มีใช้-สร้างรายได้ให้งอกเงยต้องอ่าน
ปักหมุด 4 วิธีเก็บเงินสบาย ๆ มีเก็บ มีใช้ มีเหลือไว้ลงทุน

การเก็บเงิน-ออมเงินเป็นเรื่องที่สำคัญและเป็นเรื่องที่ทุกควรทำให้เป็นนิสัยที่ดี แต่ในความจริงแล้วจะพบว่ามีเพียงผู้คนส่วนน้อยมาก ๆ ที่จะสามารถเก็บเงินได้อย่างสม่ำเสมอและเพียงพอเก็บไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน และยังมีหลาย ๆ คนที่มองว่าการเก็บออมเงินไม่ใช่เรื่องยาก แค่มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นก็จะทำให้มีเงินออมมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งความจริงแล้วความคิดลักษณะนี้เองที่ทำให้เกิดความชะล่าใจ มีเงินเท่าไหร่ก็ไม่สามารถตอบสนองความต้องการใช้เงินได้ สาระอสังหา บอกเล่าวิธีเก็บเงิน ใช้เงินอย่างไรให้เหลือเก็บ เหลือออมสำหรับอนาคต

การเก็บเงินถือเป็นวิธีการบังคับทิศทางหรือฝึกฝนนิสัยตัวเองรูปแบบหนึ่ง ถ้าหากวันหนึ่งที่เรามีวิธีการเก็บเงินที่ดี เข้ากับไลฟ์สไตล์ได้จะรู้สึกว่าการออมเงินก็ไม่ได้ยากลำบากจนเกินไป สำหรับใครที่มีความมุ่งมั่นและตั้งใจเริ่มต้นเก็บออม สามารถปรับใช้กับเทคนิคและวิธีคิดดี ๆ ดังต่อไปนี้

วิธีเก็บเงินที่เด็ก ผู้ใหญ่ วัยรุ่น วัยไหนๆ ก็สามารถทำได้ เริ่มต้นง่าย ๆ วันนี้

วิธีเก็บเงินที่เด็ก ผู้ใหญ่ วัยรุ่น วัยไหนๆ ก็สามารถทำได้

 

1.การกำหนดเป้าหมายของการออมเงิน

การกำหนดเป้าหมายถือเป็นเรื่อสำคัญสำหรับทุก ๆ อย่างที่ต้องการวางแผนเพื่อปฏิบัติให้สำเร็จ ไม่เพียงแค่การออมเงิน แต่รวมถึงการเลือกซื้อบ้าน สิ่งของ รถยนต์ คอนโดฯ เพราะการที่เรามีเป้าหมายนั้น จะทำให้ทราบระยะเวลา รวมถึงขั้นตอนการปฏิบัติหลังจากนี้ ดังนั้น การกำหนดเป้าหมายถือเป็นเกณฑ์ในการกำหนดแผนการและวิธีการเพื่อนำไปสู่เป้าหมาย (การไม่มีเป้าหมายส่งผลถึงความเสี่ยงที่ทำให้ถอดใจหรือล้มเลิกไปก่อนได้) และเป้าหมายแรกแน่นอนว่าต้องเป็นจำนวนเงินที่นำมาหักลบกับรายจ่ายแล้วสามารถออมได้ทุกเดือน ให้ดีที่สุดควรอยู่ในปริมาณ 10% ของรายได้ (ไม่น้อยกว่า 5%) ยกตัวอย่าง First Jobber ได้รับเงินเดือน 15,000 บาท ออมเงิน 10% เท่ากับ 1,500 บาท (ปรับขึ้นเปอร์เซ็นต์การออมได้ตามสะดวก)

2.วางแผนการเก็บเงิน วัน/สัปดาห์

ตั้งใจกำหนดวันสำหรับการออมให้ชัดเจน เพราะจากส่วนใหญ่แล้วการกำหนดคร่าว ๆ ด้วยความต้องการแต่ไม่ระบุวันให้ชัดเจนมักเป็นวิธีเก็บเงินที่ไม่ค่อยเห็นผลนัก อาจเกิดขึ้นจากความชะล่าใจและเหตุผลอื่น ๆ แต่ต้องพึงเข้าใจไว้ว่าเงินมีที่ไปเสมอ ซึ่งสามารถบังคับพฤิกรรมเพื่อลดการใช้จ่ายส่วนต่างออกไปก่อนได้ เช่น การรับเงินช่วงต้นเดือน สามารถหักเงินออมออกไปได้เลยตั้งแต่ครั้งแรกที่เงินเข้าบัญชี หลังจากนั้นค่อยนำเงินที่เหลือแบ่งสำหรับใช้กิน ใช้จ่ายและจัดสรรงบประมาณ (ถ้าหากเหลือสามาถนำมาทบวงเงินออมเพิ่ม)

3.จำนวนเงินออม

หากพูดตามความเป็นจริงแล้วการเก็บเงินได้ยิ่งมากเท่าไหร่ยิ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่การเก็บออมเพียงเฉพาะส่วนที่ได้รับผลตอบแทนต่ำอาจทำให้เสียโอกาสกาลงทุนหรือทิศทางที่ทำให้เงินงอกเงย ดังนั้น ควรกำหนดให้ชัดเจนว่าเงินออมก้อนแรกนี้จะแบ่งใช้เพื่อทำอะไรและเก็บไปจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งความเป็นจริงแล้วหลายคนอาจมองข้ามเหตุผลนี้ไป แต่อย่างไรก็อยากส่งเสริมให้เงินก้อนแรกเป็น ‘การออมเผื่อกรณีฉุกเฉิน’ คือ เงินที่นำมาใช้จ่าย ดูแลตัวเองได้ ในวันที่เกิดอุบัติเหตุ สถานการณ์ต้องเจ็บป่วยหรือต้องลาออกทั้งที่คาดเดาไม่ได้ โดยตัวเลขมาตรฐานที่ควรออมคือจำนวน 6 เท่าของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน เช่น ค่าเดือนทาง ค่ากิน ฯลฯ 9,000 บาท/เดือน ควรมีเงินออมอยู่ที่ 54,000 บาท (ออมเงินครบแล้วสามารถเก็บเพิ่มต่อเพื่อตั้งเป้าหมายใหม่ที่เพิ่มผลตอบแทนได้)

4.การทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย

ช่วยให้ทราบรายจ่ายและจำนวนการใช้เงินต่าง ๆ เมื่อได้ทราบว่าการนำไปใช้จ่ายส่วนไหนที่มากและเป็นจำนวนเงินที่สูงก็สามารถปรับลด วางแผนการใช้เงินและดึงสติของตัวเองได้อย่างดี ซึ่งหากใครที่ไม่มีเวลาหรือคาดว่าการทำรายรับ-รายจ่ายเป็นวิธีเก็บเงินที่ยุ่งยาก อย่างน้อยก็อาจใช้วิธีคำนวณด้วยตัวเลขกลม ๆ ไม่ว่าจะเป็นรายวัน / รายเดือน / รายสัปดาห์ก็ได้ เพื่อทราบว่าควรประหยัดส่วนไหนได้บ้าง เพื่อให้การออมเงินไม่ลำบากกับตัวเองจนเกินไปและใช้จ่ายแบบพอดีมากขึ้น

 

ดังที่ได้ทราบ 4 วิธีเก็บเงินไปแล้ว สำหรับใครที่อยากเริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเอง เก็บออมเงิน วางแผนการใช้เงินของตัวเอง ก็สามารถนำวิธีข้างต้นนี้ไปปรับและประยุกต์ใช้ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการออมเงินมากหรือน้อยเท่าไหร อย่างน้อยก็ไม่ควรต่ำกว่า 5% ของรายได้ เพราะการออมเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องใช้เทคนิคอะไรมากมาย เพียงฝึกฝนนิสัยและพฤติกรรมให้ชินและทำประจำสม่ำเสมอก็จะเกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อตัวเองอย่างแน่นอน

About author

เป็นนักการตลาดออนไลน์ เสพติดข่าวสาร กฎหมาย สังคม เศรษฐกิจโลกและแวดวงอสังหาฯ เชื่อว่าเรื่องราวที่ได้รู้มีบทเรียนชีวิตแฝงอยู่ให้เราเสมอ

หมวดหมู่