top

การเงิน-การลงทุน

การเงิน-การลงทุน 8 วิธีปรับโครงสร้างหนี้อย่างปลอดภัย หนี้แบบไหนขอเจรจาได้
วิธีปรับโครงสร้างหนี้

หลังสถานการณ์โควิด 19 ดีขึ้นจนเกือบเข้าสู่ภาวะปกติ ผู้คนออกมาใช้จ่ายกันมากขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้า – ออกมีเพิ่มขึ้น รัฐบาลตัดสินใจยกเลิกผ่อนปรนมาตรการต่าง ๆ ที่ประกาศใช้เพื่อช่วยเหลือประชาชนปีก่อนหน้า แนวโน้มเศรษฐกิจเริ่มเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นช่วงเวลาที่ธนาคารกลางสหรัฐ ‘เฟด’ ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลให้ประเทศไทยเองต้องปรับตัวสู้เงินเฟ้อ ค่าเงินที่มีลดลง แต่ค่าแรงขั้นต่ำประชาชนยังคงจำนวนเท่าเดิม

เมื่อเริ่มรู้ตัวว่ารายรับเท่าเดิมไม่เพียงพอต่อรายจ่ายประจำ ซึ่งยังไม่นับรวมกับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องจ่ายเพื่อการดำเนินชีวิตเพิ่มเติม ทางที่ดีไม่ควรปล่อยผ่านจนทำให้เกิดหนี้เสีย ติดเครดิตบูโร หรือเจ้าหนี้ฟ้องยึดทรัพย์สินอื่น ๆ การขอปรับโครงสร้างหนี้จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยหาทางออกแก้ไขเรื่องหนี้ได้อย่างถูกต้อง เป็นหนึ่งโครงการที่ธปท. สนับสนุนให้ลูกหนี้และสถาบันการเงินร่วมกันเจรจาหาทางออก แทนการไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย

การปรับโครงสร้างหนี้คืออะไร สำคัญอย่างไร

การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (Debt Restructuring หรือ DR) คือการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ไม่สามารถชำระเงินคืนตามสัญญากู้เงินที่เคยทำไว้กับเจ้านี้หรือสถาบันการเงินได้ เป็นลักษณะที่ลูกหนี้และเจ้าหนี้ ทั้งสองฝั่งจับมือเจรจาร่วมกัน เพื่อให้เกิดเงื่อนไข ข้อตกลงใหม่ ให้สอดคล้องกับความสามารถที่ลูกหนี้สามารถทำได้จริง ๆ หากพูดคุยได้ ปรับโครงสร้างหนี้ได้ ก็จะทำให้ลูกหนี้ดำเนินชีวิต ดูแลกิจการต่อไปได้ มีเงินเพียงพอจ่ายหนี้ได้ ไม่ต้องเป็นหนี้เสีย (NPL) ไม่เสียประวัติผิดนัดชำระ ฝั่งเจ้าหนี้เองก็ได้รับชำระหนี้เช่นกัน

เริ่มปรับโครงสร้างหนี้ได้เมื่อไร?

  1. เมื่อเริ่มรู้สึกว่าผ่อนไม่ไหว สามารถติดต่อเจรจากับสถาบันการเงินได้เลย ไม่ต้องรอให้เสียประวัติหรือเป็นหนี้เสีย
  2. ในกรณีที่ผ่อนชำระไม่ไหวจนเป็นหนี้เสีย ก็สามารถติดต่อเจรจากับสถาบันการเงินเพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ได้เช่นกัน
  3. ศึกษาทางเลือกการปรับโครงสร้างหนี้เบื้องต้น เตรียมตัวตร่าว ๆ ก่อนเข้าไปเจรจา ว่าวิธีไหนเหมาะและสะดวกกับตัวเรามากที่สุด

8 ทางเลือกปรับโครงสร้างหนี้ ที่ลูกหนี้ควรรู้

8 ทางเลือกปรับโครงสร้างหนี้

1.ยืดระยะเวลา หรือ ยืดหนี้

วิธีนี้ถือเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ช่วยให้ภาระการผ่อนสอดคล้องกับรายรับที่ลดลง เช่น สินเชื่อเดิมมีระยะเวลาผ่อนนาน 20 ปี ผ่อนมาแล้ว 10 ปี เริ่มรู้สึกว่าผ่อนไม่ไหว สามารถขอขยายระยะเวลาออกไป เพื่อปรับลดค่างวดต่อเดือนให้ปรับลดลง (สถาบันการเงินหรือธนาคารอาจมีการพิจารณาอายุของผู้กู้)

2.พักชำระเงินต้น

โดยปกติค่างวดจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ เงินต้นและดอกเบี้ย วิธีนี้จะเป็นทางเลือกที่ช่วยลดภาระการผ่อนเพียงชั่วคราว 6 เดือน หรือ 12 เดือน เช่น สัญญาเงินกู้ระบุว่าต้องผ่อนชำระเท่ากันทุกเดือน 25,000 บาท ประกอบไปด้วยเงินต้น 11,000 บาท และดอกเบี้ 14,000 บาท การพักชำระเงินต้นในที่นี่จะทำให้ค่างวดเหลือเพียง 14,000 บาท (เงินต้นไม่ได้หายไปและไม่ลดลงในช่วงพักชำระ) ทำให้ลูกหนี้ต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่ในช่วงท้ายสัญญา (balloon) หรือทำให้เป็นหนี้ที่ต้องแบกภาระดอกนานขึ้น

3.ลดอัตราดอกเบี้ย

ขอลดอัตราดอกเบี้ยที่เคยระบุไว้บนสัญญาฉบับเดิม เพื่อลดภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย ทำให้ค่างวดที่จ่ายแต่ละเดือนแบ่งไปตัดลดเงินต้นได้มากขึ้น เช่น กู้ยืมโดยมีอัตราดอกเบี้ย MOR+2% ต่อปี ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจึงผ่อนชำระจำนวนเดิมไม่ไหว สามารถยื่นคำร้องขอลดอัตราดอกเบี้ยส่วนนี้ให้ต่ำลงได้ ซึ่งสถาบันการเงินจะพิจารณาให้ลดได้หรือไม่ ดูจากหลาย ๆ ปัจจัย เช่น ประวัติผ่อนชำระของลูกหนี้ ประเภทสินเชื่อ หลักประกัน เป็นต้น

4.ยกหรือผ่อนปรนดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้

เมื่อต้นปี 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศให้สถาบันการเงินคิดดอกเบี้ยปรับบนฐานของงวดที่ผิดนัดชำระจริงเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และให้ความสำคัญกับความสามารถในการจ่ายหนี้ (ธนาคารสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยปรับได้ แต่ต้องอยู่ในเกณฑ์ที่ลูกหนี้จ่ายไหว ไม่สูงจนเกินไป)

5.เพิ่มเงินทุนหมุนเวียน

ปัจจุบันสถานการณ์เงินเฟ้อค่อนข้างรุนแรง เงินที่มีในมืออาจไม่เพียงพอต่อราคาสินค้าในอนาคต เงินหมุนเวียน (Working Capital) เป็นปัจจัยสำคัญที่เอื้อธุรกิจในยามลำบาก แบงก์ชาติจึงสนับสนุนให้สถาบันการเงินมีสินเชื่อ WC ใหม่กับกิจการที่มีศักยภาพ (เพิ่มสภาพคล่องและสำรองไว้ยามฉุกเฉิน)

6.เปลี่ยนประเภทหนี้

เปลี่ยนประเภทหนี้จากสินเชื่อดอกเบี้ยสูง เป็นสินเชื่อที่มีดอกเบี้ยต่ำกว่า เช่น ลูกหนี้ SMEs ที่ใช้บัตรกดเงินสดและบัตรเครดิตเป็นแหล่งเงินหมุนเวียนอัตราดอกเบี้ยที่สูง 18% – 28% หรือลูกหนี้มีวงเงิน O/D ใช้วงเงินเต็ม สถาบันการเงินอาจพิจารณาเปลี่ยนสินเชื่อหมุนเวียนเป็นสินเชื่อแบบมีกำหนดระยะเวลาชำระ (term loan) ที่ดอกเบี้ยถูกลง

7.ปิดจบด้วยเงินก้อน

การจบหนี้ด้วยวิธีนี้อาจเป็นทางออกท้าย ๆ ที่หลายคนจะนำมาตัดสินใจ แต่หากพอจะมีกำลังหรือความสามารถหาเงินก้อนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเงินจากการออม เงินก้อนจากการยืมญาติสนิท หรือเงินที่ได้จากการนำทรัพย์สินมูลค่าสูงไปขาย จำนวนเงินที่ได้ถึงแม้ไม่มากพอจะปิดหนี้ทั้งหมด แต่ก็เป็นจำนวนที่สามารถเจรจาขอส่วนลดให้เพียงพอต่อการลดหนี้หรือปิดหนี้ได้ ซึ่งจะช่วยเรื่องการลดภาระค่างวดรายเดือนไปอีกหนึ่งก้อน (การเจรจาขอปิดจบแบบมีส่วนลดจะทำได้ค่อนข้างยาก กรณีที่หลักประกันมูลค่าสูงกว่ายอดหนี้)

8.รีไฟแนนซ์ (refinance)

รีไฟแนนซ์ คือ การปิดสินเชื่อกับสถาบันการเงินหรือเจ้าหนี้เดิม ไปทำสัญญษสินเชื่อกับเจ้าหนี้ใหม่ที่ให้เงื่อนไขดีกว่า เช่น อัตราดอกเบี้ยถูกลง

Q&A การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ที่หลายคนสงสัย

Q&A การปรับปรุงโครงสร้างหนี้

 

การเป็นหนี้ไม่ใช่เรื่องเสียหายหรือเรื่องที่น่าอาย การกู้เพื่อผ่อนชำระก็เปรียบเสมือนการออมเงินทีละเล็กทีละน้อยเพื่อแลกสิ่งที่ต้องการมา แต่ไม่ใช่ทุกคนที่สภาพคล่องทางการเงินจะราบรื่นจนผ่อนชำระหนี้ครบ ระหว่างทางอาจเจอปัญหาในด้านเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ฯลฯ ที่ส่งผลให้รายจ่ายเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น เมื่อเริ่มรู้สึกว่าภาระที่มีหนักจนเกินไป ผ่อนไม่ไหว การปรับโครงสร้างหนี้ก็เป็นวิธีที่ถือว่ารู้ตัวไวไม่เสียเครดิต การพูดคุยเจรจาร่วมกันอย่างไรก็ต้องดีกว่าการไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย ทุกปัญหาย่อมมีทางออกขึ้นอยู่กับการวางแผนทางการเงินที่ดี

หมวดหมู่