อัปเดตดอกเบี้ยบัญชีเงินฝากปลอดภาษี ธนาคารไหนให้ดอกเบี้ยดี ปี 2566
กำลังมองหาบัญชีที่เน้นการออมเป็นหลัก นอกจากบัญชีเงินฝากดิจิทัล สาระอสังหาเคยนำมาอธิบายเกี่ยวกับการเปิดบัญชี การคำนวณดอกเบี้ยและการคิดภาษีไปแล้ว ยังมีอีกหนึ่งประเภทที่ปันผลให้ดีเลยทีเดียว นั้นก็คือ บัญชีเงินฝากปลอดภาษี เป็นวิธีเก็บเงินง่าย ๆ สามารถทำได้ด้วยการเปิดบัญชีออมเงินแบบไม่ยุ่งยากซับซ้อน เพียงผู้ฝากทำตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด ก็จะได้รับเงินต้นคืนพร้อมกับดอกบี้ยรายปีตามที่กำหนด แต่หากมีข้อสงสัยในเรื่องการคำนวณดอกเบี้ย ว่ามีการทบต้นของดอกเบี้ยหรือคิดเพียงครั้งเดียว สรุปความหมายและพูดถึงภาพรวมของบัญชีฝากประจำปลอดภาษี คำนวณดอกเบี้ยแบบคร่าว ๆ เปิดบัญชีประเภทนี้เหมาะกับตัวเราหรือไม่
บัญชีเงินฝากปลอดภาษีคืออะไร เป็นการออมเงินลักษณะไหน?
บัญชีเงินฝากปลอดภาษี คือ บัญชีฝากประจำที่ผู้ฝากต้องฝากเงินในจำนวนเท่ากันทุกเดือน ตามระยะเวลาที่ธนาคารกำหนดเงื่อนไขไว้ เช่น 24 – 36 เดือน เพื่อรับดอกเบี้ยในวันครบกำหนดฝากเงิน จุดเด่นของการรับดอกเบี้ยในบัญชีประเภทนี้ คือ ผู้ฝากไม่เสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% เหมือน บัญชีเงินฝากดิจิทัล (E-Saving) แต่ถึงแม้จะมีจุดเด่นที่แตกต่างกันแต่บัญชีทั้ง 2 ประเภทก็ถือเป็นบัญชีเงินฝากที่ได้รับความนิยมสูงในกลุ่มผู้ต้องการออมทรัพย์ เนื่องจากดอกเบี้ยที่ให้สูงกว่าการฝากกับบัญชีทั่วไป และสามารถเริ่มต้นฝาก เริ่มต้นออม ถึงแม้จะมีเงินเริ่มต้นไม่มาก ขึ้นอยู่กับว่าวิธีไหนเหมาะกับตัวผู้ฝากมากกว่า
หากกล่าวถึงสภาพคล่องของบัญชีเงินฝากประจำปลอดภาษี อันดับแรกผู้ฝากต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับระเบียบการฝากและถอน เงื่อนไขการฝากอยู่ที่ 1 ครั้งต่อเดือน ในจำนวนที่เท่ากันทุก ๆ เดือน สามารถถอนเงินก่อนครบกำหนดได้ แต่จะรับอัตราดอกเบี้ยในเรทดอกเบี้ยออมทรัพย์ทั่วไป (บางกรณีก็ไม่ได้รับเลย) หรือกรณีที่ขาดฝากเกิน 2 เดือนก็จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์หรือยกเว้นการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามเงื่อนไข ผู้ฝากสามารถเปิดได้ 1 บัญชีรวมทุกธนาคารผ่านเจ้าหน้าที่สาขาธนาคาร (หากมีมากกว่าจะต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% สำหรับดอกเบี้ยรับ) ดังนั้นจะเห็นว่า การฝากประเภทนี้ ผู้ฝากจำเป็นต้องมีวินัยอย่างมาก ฝากประจำ และฝากสม่ำเสมอ
การคำนวณดอกเบี้ยและระยะเวลาการจ่ายดอกเบี้ย
บัญชีเงินฝากปลอดภาษี จะได้รับดอกเบี้ยเพียงครั้งเดียวเมื่อครบกำหนดระยะเวลาการฝาก ตัวอย่างเช่น เปิดบัญชีเงินฝากประจำปลอดภาษี 24 เดือน รับดอกเบี้ยต่อเมื่อฝากครบกำหนด 24 เดือนหรือปิดบัญชี ถึงแม้จะคำนวณดอกเบี้ยให้ทุกวัน แต่จะไม่มีการทบต้นดอกเบี้ยให้
วงเงินรับฝากและจำนวนดอกเบี้ยสูงสุด บัญชีเงินฝากประจำปลอดภาษี 2566
วงเงินฝากไม่เกิน 600,000 บาท หรือ ฝากสูงสุด 25,000 บาทต่อเดือน สำหรับฝากแบบ 24 เดือน ส่วนยอดฝากไม่เกิน 16,500 บาท สำหรับการฝากแบบ 36 เดือน ยกตัวอย่างเช่น
- บัญชีเงินฝากปลอดภาษี Krungthai Zero Tax Max ออม 24 เดือน จำนวนฝาก 1,000 – 25,000 บาท / 36 เดือน จำนวนฝาก 1,000 – 16,500 บาท / 48 เดือน เงินฝาก 1,000 – 12,500 บาท แผนการออมทั้ง 3 รูปแบบได้รับอัตราดอกเบี้ย 2.25% ต่อปี โดยมีเงื่อนไขเกี่ยวกับการขาดฝากได้ 2 ครั้ง ฝากผิดเงื่อนไขธนาคารจะจ่ายดอกเบี้ยตามประกาศของธนาคารและหักภาษี ณ ที่จ่าย (ผู้เปิดบัญชีใหม่ 6 มี.ค. 66 เป็นต้นไป)
- เงินฝากประจำปลอดภาษี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เริ่มต้นฝาก 500 บาทต่อเดือน สูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท ดอกเบี้ย 2.35% ต่อปี (สำหรับฝาก 24 เดือน) หรือสูงสุดไม่เกิน 16,000 บาท ดอกเบี้ย 2.10% ต่อปี (สำหรับฝาก 36 เดือน)
- บัญชีเงินฝากโบนัส ธนาคารไทยพาณิชย์ เริ่มต้นออม 500 บาทต่อเดือน เลือกฝากได้ทั้งแบบ 24 เดือน หรือ 36 เดือน ให้ดอกเบี้ยสูง 2.00% – 2.35% ต่อปี
ข้อดีการเปิดบัญชีเงินฝากปลอดภาษี
- ดอกเบี้ยสูงกว่าการฝากประจำทั่วไป
- ไม่ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% (ดอกเบี้ยรับ)
- สร้างวินัยการออม ด้วยการออมประจำทุกเดือน เมื่อครบกำหนดรับเงินก้อนพร้อมดอกเบี้ย
- สามารถเริ่มออมได้ในวงเงินที่ไม่สูงมาก 500 – 25,000 บาท
บัญชีเงินฝากปลอดภาษีเหมาะกับใคร?
- ผู้ที่ไม่รีบร้อนใช้เงิน มีเงินเย็นต้องการฝากสะสมไปเรื่อย ๆ
- ผู้ที่อยากได้ดอกเบี้ยรับ ไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย
- ผู้ที่ไม่ต้องการความยุ่งยาก ออมเพียง 1 บัญชีเท่านั้น
- ผู้ที่ต้องการสร้างวินัยในการออม บังคับออมทุกเดือนจนครบระยะเวลารับดอกเบี้ย
- ผู้ที่มีการวางแผนใช้เงินก้อนใหญ่ในอนาคต สะสมไว้ตอนนี้เพื่อรับเงินก้อนพร้อมดอกเบี้ย
อัตราดอกเบี้ยเงินฝากปลอดภาษี ปี 2566
หมายเหตุ : โปรโมชันและอัตราดอกเบี้ยเงินฝากอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามประกาศของธนาคารในแต่ละช่วงเวลา
เมื่อได้ไอเดียดี ๆ เกี่ยวกับบัญชีฝากประจำทั้ง 2 ประเภท บัญชีเงินฝากปลอดภาษี บัญชีเงินฝากดิจิทัล พร้อมวิธีคำนวณดอกเบี้ยคร่าว ๆ ไปแล้ว ผู้ที่กำลังตัดสินใจแต่ยังลังเลว่าจะฝากแบบไหน ลักษณะใด อาจจะต้องพิจารณาร่วมกับการตั้งเป้าหมายการเงินของตัวเราร่วมด้วย ต้องการฝากต่อเดือนจำนวนเท่าไร คาดว่าจะใช้เงินตอนไหน ซึ่งหากเป็นการฝากบัญชีปลอดภาษี เงื่อนไขที่ได้รับความนิยมส่วนใหญ่เป็นการฝาก 24 เดือนและ 36 เดือน เพราะระยะเวลาไม่ได้ยาวนานมากเกินไป ความเสี่ยงต่ำ เงินต้นไม่หาย แม้ว่าดอกเบี้ยที่ได้รับจะไม่สูงมาก แต่ก็เป็นวิธีช่วยฝึกวินัยในการออมได้ดี ทั้งยังไม่ถูกหักภาษีดอกเบี้ยอีกด้วย