ใบ 50 ทวิ คืออะไร ใครเป็นผู้ออกให้ เกี่ยวข้องกับการจ่ายภาษีอย่างไร
‘ภาษี’ เรื่องจำเป็นที่ First Jobber ควรศึกษาและทำความเข้าใจเมื่อเริ่มมีรายได้เป็นของตัวเอง การลดหย่อนภาษีเกี่ยวข้องอย่างไรกับใบ 50 ทวิ หรือที่เรียกว่าหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าต้องการลดหย่อนภาษีต้องทำเมื่อไหร่ ตอนไหน และขอหนังสือรับรองได้จากใคร สาระอสังหา นำบทความสาระดี ๆ เรื่องเกี่ยวกับการจ่ายภาษี เพื่อนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง ไม่ละเลยจนเป็นการหลบหนีภาษีแบบไม่ได้ตั้งใจ
ใบ 50 ทวิ คืออะไร มีความสอดคล้องกับการจ่ายภาษีอย่างไร?
ใบ 50 ทวิ หรือหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นหลักการซื้อ-ขายของการจัดเก็บภาษี หมายความว่าเมื่อไหร่ที่เรามีรายได้ เมื่อนั้นต้องมีการจ่ายภาษี ซึ่งส่วนนี้ทางภาครัฐมองว่าการรอเก็บภาษีปีละหนึ่งครั้งนั้น อาจทำให้เป็นภาระก้อนใหญ่ของใครหลายคน หรือถ้าหากมีใครที่ตั้งใจเลี่ยงภาษีขึ้นมาก็จะส่งผลทำให้รัฐเสียสภาพคล่องได้ จึงเกิดนโยบายให้ผู้ที่มีหน้าที่จ่ายรายได้ (ผู้จ้างงาน) ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของรัฐในการช่วยหักภาษีสวนหนึ่งของลูกจ้างก่อน ส่วนที่เหลือสามารถนำไปจ่ายให้ผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับเงินได้ เรียกภาษีที่หักไปก่อนว่า ‘ภาษีหัก ณ ที่จ่าย’ เพราะอย่างไรก็ตาม ทุกคนก็ต้องจ่ายภาษีอยู่แล้ว ฉะนั้นการทยอยจ่ายเพื่อให้ไม่เป็นภาระของตนเองได้ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ฝั่งภาครัฐเอง ก็จะเกิดสภาพคล่องนำภาษีส่วนดังกล่าวมาใช้ก่อนด้วย จึงเป็นที่มาของใบ 50 ทวิ ที่ระบุรายละเอียดให้เห็นว่ามีการหักภาษี ณ ที่จ่ายไปก่อนจากจำนวนที่ต้องจ่ายตรงเท่าไหร่ แล้วยังเหลืออีกจำนวนเท่าไหร่ที่ยังต้องจ่าย ทำให้ใบ 50 ทวิมีความสำคัญกับการยื่นภาษีมาก เป็นสิ่งที่บ่งบอกได้ว่าเมื่อเราคำนวณรายได้ทั้งปีแล้วจะมีภาษีที่ต้องจ่ายจริงเท่าไหร่ มีการจ่ายล่วงหน้าก่อนจากการหัก ณ ที่จ่ายไปแล้วจำนวนเท่าไหร่ จะนำไปสู่คำตอบว่ารัฐเรียกจ่ายภาษีเพิ่มอีกไหม (ในกรณีที่เราหัก ณ ที่จ่ายไปน้อยกว่าภาระภาษีจริง ๆ ที่ต้องจ่าย) หรือทางภาครัฐจะคืนเงินภาษีให้หรือไม่ หากเราหักภาษี ณ ที่จ่ายไปมากกว่าภาษีภาษีจริง ๆ ที่ต้องจ่าย
ภาพตัวอย่างใบ 50 ทวิ ที่มา : กรมสรรพากร
ใครเป็นผู้หักภาษีและออกใบ 50 ทวิ?
ผู้ที่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ผู้ที่ออกใบ 50 ทวิและผู้ที่จ่ายรายได้จะเป็นคนเดียวกัน (นายจ้าง) ยกตัวอย่างเช่น กรณีพนักงานเงินเดือน นายจ้างจะมีการเก็บภาษี ณ ที่จ่ายล่วงหน้าให้เราไปก่อน (สังเกตจากสลิปเงินเดือน) หากปีไหนคำนวณแล้วว่ายังไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องจ่ายภาษี ก็อาจจะไม่ได้มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่ก็ยังมีหน้าที่ออกใบ 50 ทวิให้เราเหมือเดิม ซึ่งหนังสือรับรองการหักภาษีของพนักงานเงินเดือนก็ยังมีรายละเอียดเกี่ยวกับเงินสมทบกองทุนประกันสังคม เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานในการลดหย่อนภาษีด้วยประกันสังคมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ด้วยเช่นกัน
กรณีอาชีพอิสระ (Freelance) มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายอ้างอิงจากเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดตามเนื้องานของตนเอง การรีวิวสินค้า หรือกราฟิกต้องถูกหักจำนวน 3% (ค่าจ้างที่ได้รับมาไม่ถึง 1,000 บาท ไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย)
ลบเรื่องเข้าใจผิดเดิม ๆ สร้างความเข้าใจใหม่ เกี่ยวกับใบ 50 ทวิ
- การหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นเพียงการทยอยหัก ‘บางส่วน’ เท่านั้น เรายังคงมีหน้าที่ในการยื่นภาษีและเสียภาษีตามเกณฑ์ปกติอยู่เหมือนเดิม
- การจ้างงานในลักษณะของการรับเหมา ซึ่งเป็นเงินได้ประเภทที่ 7 แต่จะมีการระบุในใบ 50 ทวิว่าเป็นค่าจ้างทั่วไป (ประเภทที่ 2)
- ใบ 50 ทวิ เป็นหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายเท่านั้น ไม่ใช่เอกสารระบุประเภทเงินได้
อย่างไรก็ตามควรพูดคุยกับผู้ว่าจ้างให้ชัดเจนว่าค่าจ้างที่จ่ายให้เป็นเงินได้ประเภทไหน เพื่อจะได้ทำการระบุลงในใบ 50 ทวิอย่างตรงกัน และในส่วนของการออกใบ 50 ทวิ นั้น เป็นหน้าที่ของผู้ว่าจ้าง อิงตามกฎหมายกำหนดไว้ เช่น กรณีพนักงงานประจำ ฝั่งนายจ้างจะออกใบทวิ 50 ให้ภายในวันที่ 15 ก.พ. ของปีถัดไปจากปีที่รับเงิน ส่วนอาชีพอิสระก็จะเป็นหน้าที่ของผู้ว่าจ้างเช่นกัน แต่จะทำการออกใบให้ทันที
ทำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายหาย ยังสามารถยื่นภาษีไม่ได้ไหม?
ใบ 50 ทวิหาย ยังสามารถยื่นภาษีได้ ถ้าหากไม่มีใบ 50 ทวิตัวจริง แต่มีสำเนาถูกต้องที่ระบุได้ชัดเจนว่าตรงกับเอกสารจริง สามารถใช้ข้อมูลส่วนนี้นำมาเป็นหลักฐานในการยื่นภาษีก่อนได้
ยื่นภาษีออนไลน์ผ่านช่องทางไหน รวดเร็วจริงไหม หรือยุ่งยากกว่าเดิม?
กรมสรรพากรได้พัฒนาระบบการยื่นภาษีแบบออนไลน์ เพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชนสามารถยื่นภาษีได้สะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น ผ่านเว็บไซต์ : https://efiling.rd.go.th/rd-cms/ (24 ชม.) นอกจากนี้ยังได้รับสิทธิพิเศษ เป็นการขยายเวลายื่นแสดงรายการและชำระภาษีออกไปอีก 8 วัน (นับตั้งแต่วันสุดท้ายของกำหนดเวลายื่นแบบทุกประเภท) ในระหว่างวันที่ 1 ก.พ. 2564 – 31 ม.ค. 2567
บริการยื่นแบบ : ภ.ง.ด.90/91/94 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (เปิดบริการ 24 ชม.) และยื่นแบบอื่น ๆ ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (เปิดบริการทุกวัน 06.00-22.00 น.)
บริการชำระภาษี : ช่องทาง E-Payment (Online Realtime), ATM บนอินเทอร์เน็ต (เปิดบริการทุกวัน 06.00-22.00 น.) และช่องทางอื่น ๆ เปิดบริการเป็นไปตามเวลาของหน่วยรับชำระภาษี
บริการอื่น ๆ เปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมง
ใบ 50 ทวิ เป็นเอกสารสำคัญอีกฉบับหนึ่งที่ผู้มีรายได้ต้องให้ความสำคัญ ไม่เช่นนั้นอาจเป็นหนึ่งในผู้หลีกเลี่ยงภาษีแบบไม่ได้ตั้งใจก็เป็นไปได้ แต่อย่างไรก็ตาม ใครที่มีธุรกิจหรือที่ดินทำกินสามารถศึกษาและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปี 2565 เพราะเรื่องภาษีใกล้ตัวกว่าที่คิด แล้วกลับมาติดตามความรู้เรื่องภาษีกับสาระอสังหาได้ในครั้งหน้า