สร้างบ้านหลังใหม่ในทำเลเดิม รื้อถอนบ้านอย่างไรให้ถูกต้องตามกฎหมาย
บ้านหลังเก่าที่อยู่มานานย่อมชำรุดทรุดโทรมลงไปตามกาลเวลา ถ้าหากต้องซ่อมแซมทีละเล็กทีละน้อยก็อาจทำให้เสียทั้งเงินและเวลาอยู่บ่อย ๆ การ ” รื้อถอนบ้าน “ เพื่อปลูกสร้างใหม่ จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้คุณได้บ้านในฝันที่นอกจากจะช่วยประหยัดงบประมาณการซื้อที่ดินแปลงใหม่แล้ว ยังได้สร้างบ้านที่มีความสวยงามบนทำเลเดิม ใกล้เพื่อนบ้าน ญาติ พี่น้องของตนเองอีกด้วย แต่การรื้อถอนถือเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบบ้านครั้งใหญ่ที่จำเป็นต้องมีการขออนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมาย วันนี้ สาระอสังหา นำข้อควรรู้เกี่ยวกับการ ขออนุญาตรื้อถอนอาคาร เพื่อสร้างความเข้าใจถึงวิธีการ ขั้นตอนต่าง ๆ รวมถึงเอกสารสำคัญที่จะนำไปประกอบการขออนุญาตกับทางราชการมาฝากกัน
ข้อควรรู้เกี่ยวกับการขออนุญาต รื้อถอนบ้าน – รื้อถอนอาคาร
1. การรื้อถอนอาคารลักษณะใดบ้าง ที่ต้องขออนุญาตกับทางราชการ
การรื้อถอน คือ การรื้อส่วนที่เป็นโครงสร้างของบ้านหรืออาคารออกไป เช่น เสา คาน รวมถึงส่วนอื่น ๆ ของโครงสร้างอาคาร โดยมีข้อกฎหมายที่ได้บัญญัติไว้ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ระบุว่า “ผู้ใดจะรื้อถอนอาคารที่มีส่วนสูงมากกว่า 15 เมตร ซึ่งอยู่ห่างจากอาคารอื่นหรือที่สาธารณะน้อยกว่าความสูงของอาคาร และอาคารที่อยู่ห่างจากอาคารอื่นหรือที่สาธารณะน้อยกว่า 2 เมตรต้องได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ซึ่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นต้องตรวจพิจารณาและออกใบอนุญาตหรือมีหนังสือแจ้งคำสั่งไม่อนุญาต”
นอกจากนี้ยังมีส่วนอื่น ๆ ของโครงสร้างอาคารที่จะต้องได้รับการอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นก่อน หากเมื่อไหร่ก็ตามที่เจ้าของบ้านมีความประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างจำเป็นต้องมีการขออนุญาตรื้อถอนอาคารเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่ต้องการติดตั้งกันสาดแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก ทุบหรือต่อเติมผนัง/ฝาที่เป็นโครงสร้างหลักของอาคาร บันไดคอนกรีตเสริมเหล็ก วางโครงสร้างพื้นใหม่ที่ประกอบด้วยเหล็กและคอนกรีต เป็นต้น
2. รื้อถอนบ้าน หรือ อาคารที่เป็นชื่อของตนเอง ทำไมต้องแจ้งขออนุญาตกับทางราชการ ?
การที่เจ้าบ้านไม่ได้ยื่นคำร้องขออนุญาตรื้อถอนแล้วไปขออนุญาตสร้างบ้านใหม่แทน จะส่งผลให้บ้านหลังใหม่นี้ ถูกสวมทะเบียนตามมูลค่าเดิม ซึ่งอาจเกิดปัญหาใหญ่ได้ในภายหลัง ในกรณีที่มีการโอนต่อ ประวัติบ้าน ขนาดพื้นที่ อายุการใช้งานก็จะไม่ตรงตามความเป็นจริง
3. การยื่นคำร้องขออนุญาตรื้อถอนอาคารต้องทำอย่างไร
เมื่อเจ้าของบ้านมีความประสงค์ รื้อถอนบ้าน-อาคารเพื่อปลูกสร้างใหม่ หรือรื้อถอนออกไปเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ สามารถดำเนินการยื่นเอกสารรื้อถอนต่อเจ้าหน้าที่ ณ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้พิจารณาออกใบอนุญาต ซึ่งมีเอกสารสำคัญที่ต้องใช้ ดังนี้
1. แบบแปลนของบ้าน/อาคารที่ต้องการรื้อถอน ประกอบด้วยรายละเอียดแบบแปลนทุกชั้น รูปด้านข้าง 2 รูป ภาพตัดขวาง 2 รูป และระบุรายละเอียดวัสดุที่ใช้สร้างอาคารให้ครบถ้วน ตามหลักการรื้อถอนโครงสร้างอาคาร
2. แบบคำร้อง ข.1
3. บัตรประชาชน
4. ทะเบียนบ้านแสดงความเป็นเจ้าของที่ดิน
5. หนังสือยินยอม (กรณีที่ผู้ยื่นคำร้องไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน)
6. สำเนาโฉนดที่ดิน
4. ขั้นตอนการยื่นเอกสารขออนุญาตรื้อถอนอาคารต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น
1.ยื่นคำร้องขออนุญาตรื้อถอนอาคารพร้อมแนบเอกสารสำคัญดังระบุไว้ข้างต้น
2.ผู้ยื่นขออนุญาตต้องชำระค่าธรรมเนียม ณ วันที่ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงาน
3.เจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจพิจารณาออกใบอนุญาตหรือแจ้งคำสั่งไม่อนุญาตพร้อมด้วยเหตุผลให้ทราบ ภายใน 45 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ หากมีกรณีที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นไม่ได้ออกใบอนุญาตภายในระยะเวลา 45 วัน เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบสามารถขยายเวลาออกไปอีกไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 45 วัน โดยจะมีหนังสือแจ้งขยายเวลาพร้อมแจ้งเหตุผลให้กับผู้ยื่นคำร้องทราบ
5. กรณีที่ไม่มีการแจ้งขออนุญาตรื้อถอนบ้านหรืออาคาร มีบทลงโทษเป็นไปตามกฎหมาย ดังนี้
หากทำ การรื้อถอนบ้าน หรืออาคารโดยที่ยังไม่ได้รับการอนุญาต จะมีโทษตามกฎหมายให้จำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และในวรรคที่สองของข้อกำหนดยังระบุโทษปรับรายวันไม่เกิน 10,000 บาท (กรณีที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบการขออนุญาตรื้อถอนอาคารให้ถูกต้อง)
แต่อย่างไรก็ตามการ รื้อถอนบ้าน หลังเก่า เจ้าของบ้านควรทำการแจ้งเพื่อนบ้านใกล้เคียงให้ทราบก่อนล่วงหน้า ว่าช่วงเวลาไหนจะมีช่างเข้ามาปฏิบัติงาน ซึ่งก็เป็นวิธีการบอกกล่าวให้เพื่อนบ้านได้มีเวลาเตรียมตัวในการรับมือกับฝุ่นและเสียงรบกวนได้ ในขณะเดียวกันเจ้าของบ้านก็ควรดำเนินการยื่นคำร้องขออนุญาตรื้อถอนอาคารต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ก็เพื่อผลประโยชน์ของตัวเจ้าของบ้านนั่นเอง ครั้งหน้า สาระอสังหา จะพาคุณไปทำความรู้จักกฎหมายหรือสาระใหม่ ๆ เรื่องไหน ติดตามที่นี่ สาระอสังหา.com