เคล็ด (ไม่) ลับเรื่องภาษีมรดก จัดสรรเงินครอบครัวอย่างไรไม่ให้เป็นทุกข์
ได้รับมรดกก็ดี แต่พอได้เยอะก็กลุ้มใจ ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรกับมรดกชิ้นนี้ สาระอสังหา นำบทความกฎหมายและภาษีที่เกี่ยวข้องกับ ‘มรดก’ อธิบายเพื่อสร้างความเข้าใจเพื่อจัดสรรเงินในอนาคต เพราะการส่งมอบมรดกเป็นเรื่องที่ต้องวางแผน การที่เรามีการจัดการวางแผนมรดกได้ดี ช่วยให้ผู้ให้ไม่ห่วง ผู้รับไม่ทุกข์ นั่นหมายความว่าหากไม่ได้วางแผนให้ดีอาจเป็นการส่งต่อปัญหาให้คนในครอบครัวแทน
ภาษีมรดก คืออะไร มีความเป็นมาอย่างไร ?
ภาษีมรดก คือ ภาษีจำนวนหนึ่งที่ผู้รับมรดกต้องทำการเสียภาษีหลังได้รับมรดก หรือภาษีที่เก็บจากผู้รับมรดก พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก 2558 เริ่มใช้เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2559 ระบุว่าผู้ที่ได้รับมรดกหลังจากนี้ต้องมีการเสียภาษี ให้เรียกเก็บภาษีจากผู้รับทรัพย์มรดกในอัตรา 5% ในกรณีที่ทายาทเป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดาน และเก็บในอัตราสูงสุด 10% ในกรณีที่ทายาทเป็นบุคคลอื่น แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนที่ได้รับมรดกแล้วต้องเสียภาษี โดยหลักการของภาษีข้อนี้จะอ้างอิงจากมูลค่าทรัพย์มรดก เฉพาะส่วนที่มีมูลค่ารวมเกินกว่า 100 ล้านบาท โดยมีกรมสรรพกรเป็นหน่วยงานในการจัดเก็บภาษี
ขยายความ ‘ผู้สืบสันดาน’ และ ‘บุพการี’ ในกรณีที่ต้องจ่ายภาษีมรดก
ผู้สืบสันดาน คือ ผู้ที่มีสายเลือดเดียวกัน ได้แก่ ลูก หลาน เหลน โหลน ลื่อ หรือผู้ที่ไม่ใช่สายเลือดแต่ได้รับรองบุตรบุญธรรมว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายมตรา 1627 ปพพ.
บุพการี คือ พ่อ แม่ ปู่ย่า ตายาย ทวด
ใครเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีการรับมรดก?
- บุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทย/นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือหากตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ ต้องมีผู้ที่มีสัญชาติไทยถือหุ้นเกิน 50% ของทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว และเป็นผู้ถือสัญชาติไทยที่มีอำนาจบริการเกินครึ่ง
- บุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติอื่น/ไม่มีสัญชาติไทย จำเป็นต้องมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยอ้างอิงจากกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง (หากไม่มีที่อยู่ในประเทศ ต้องมีทรัพย์มรดกในไทย) ส่วนนิติบุคคลที่ไม่ได้มีสัญชาติไทย ต้องรับทรัพย์มรดกในไทย
ใครได้รับยกเว้นการเสียภาษีการรับมรดก?
- ผู้ที่เสียชีวิตก่อนกฎหมายบังคับใช้
- คู่สมรสของเจ้ามรดก
- องค์กรการกุศล กิจการด้านศาสนา สถานศึกษา หรือกิจการเพื่อสาธารณประโยชน์สังคม
- หน่วยงานจากรัฐและนิติบุคคลเป็นกิจการเพื่อการศึกษา ศาสนา และสังคม
- บุคคลหรือองค์กรระหว่างประเทศตามข้อผูกพันที่มีกับประเทศไทย เช่น สถานทูต กงศุล องค์สหประชาชาติ
หมายเหตุ : องค์กรหรือหน่วยงานรัฐเพื่อสาธรณประโยชน์ได้รับยกเว้นแม้ทรัพย์สินที่เป็นมรดกจะมีมูลค่ามากกว่า 100 ล้าน
ทรัพย์ลักษณะใดที่ต้องเสียภาษีมรดก?
- อสังหาริมทรัพย์ บ้าน ที่ดิน โรงงาน อาคารชุด (ทรัพย์สินที่เคลื่อนที่ไม่ได้) คิดมูลค่าจากราคาประเมิน ณ วันที่ได้รับโอน
- หลักทรัพย์ทางกฎหมายและตลาดหลักทรัพย์ เช่น หุ้นที่มีการจดทะเบียนและตรวจสอบได้ว่าใครเป็นเจ้าของ หากหุ้นมีการถอน-โอน ก็จะถูกคิดมูลค่า ณ วันที่ได้รับโอนเช่นกัน
- เงินฝาก รวบรวมเงินฝากทุกประเภทบัญชี ทุกธนาคาร หากเกิน 100 ล้าน จะมีการเก็บเกิน
- ยานพาหนะที่มีหลักฐานการจดทะเบียน
- ทรัพย์สินทางการเงินที่เพิ่มขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา
ทรัพย์ลักษณะใดที่ไม่ต้องเสียภาษีมรดก?
- เงินสด
- ทรัพย์สินทางปัญญา
- นาฬิกา/ของสะสม/ของโบราณ
- ทองคำ/เพชรพลอย/เครื่องเพชร/เครื่องประดับ/พระเครื่อง
เคล็ด (ไม่) ลับสำหรับผู้ที่กลุ้มใจเรื่องการเสียภาษีเยอะต้องทำอย่างไร
- จดสิทธิเก็บกิน สำหรับทายาท ใครผู้ใดที่อยากให้รับมรดก แทนที่จะให้เป็นมรดก สามารถเปลี่ยนให้ผู้นั้นมีสิทธิ์ในการเก็บกินผลประโยชน์ของทรัพย์สินแทน ซึ่งก็ช่วยลดการเสียภาษีมรดกในส่วนนี้ได้
- จัดการทรัพย์สินเผื่อตาย หมายความว่า เปลี่ยนการถือครองทรัพย์สินบางประเภทให้เป็นเพชรพลอย เครื่องประดับ ทองคำ ที่ซึ่งเป็นของสะสมไม่ต้องขึ้นทะเบียน
- โอนทรัพย์สินให้ทายาทในขณะยังมีชีวิตอยู่
- บริจาคทรัพย์บางส่วนให้องค์กรการกุศล
- ผ่อนจ่ายภาษี ผ่อนได้สูงถึง 5 ปี โดยที่ 2 ปีแรกจะไม่มีการเรียกเก็บดอกเบี้ยใด ๆ
เรื่องมรดกก็เป็นอีกเรื่องที่ผู้คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยทราบเรื่องการเสียภาษีกันสักเท่าไหร่ เพราะด้วยความเข้าใจที่ว่า การรับทรัพย์สิน เงิน ทอง ที่ตกทอดก็ถือเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริงหากได้รับเป็นมรดกที่มีมูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาท อย่างไรก็ต้องเสียภาษีมรดกอยู่ดี ดังนั้น การสร้างความเข้าใจจากบทความของสาระอสังหาในวันนี้ สามารถช่วยจัดสรรมรดกของคนในครอบครัวได้ ทั้งการทำพินัยกรรม และการบริหารเงิน อ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับมรดกที่นี่ ทายาทโดยธรรม