top

กฎหมาย

กฎหมาย ภาษีซื้อ ภาษีขาย คืออะไร เกี่ยวข้องอย่างไรกับการจ่าย VAT 7%
ภาษีซื้อ-ขาย เกี่ยวข้องกับการจ่าย VAT 7% อย่างไร?

ภาษีในความเข้าใจโดยทั่วไป คือ เงินที่ภาครัฐจัดเก็บจากประชาชนและผู้ประกอบการ เพื่อเป็นรายได้ที่นำไปพัฒนาเศรษฐกิจ ประเทศ สังคม ถือว่าเป็นกฎหมายและหน้าที่ของประชาชนพึงทำความเข้าใจ และที่ลึกลงไปกว่านี้ยังมีภาษีซื้อ ภาษีขาย ที่ผู้ประกอบกิจการหรือทำธุรกิจขายสินค้าและบริการต่าง ๆ ต้องให้ความสำคัญเพื่อแสดงรายได้ตามข้อกำหนดในกฎหมายสรรพากร สาระอสังหา แชร์บทความนี้เพื่ออธิบายและแยกความแต่งต่างของภาษีซื้อและภาษีขายที่มีความสอดคล้องกับภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมเอกสารตัวอย่างการนำส่งภาษีได้ที่นี่

ทำความเข้าใจ “ภาษีซื้อ ภาษีขาย” เกี่ยวข้องอย่างไรกับภาษีมูลค่าเพิ่ม?

ภาษีซื้อ คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่ผู้ขายสินค้าหรือบริการได้จดทะเบียน VAT ทำการเรียกเก็บจากกิจการเมื่อมีการซื้อสินค้าหรือใช้บริการ

ภาษีขาย คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เรียกเก็บจากลูกค้าที่ซื้อสินค้าหรือบริการ

ภาษีซื้อ เกิดจากการซื้อสินค้าหรือบริการในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม หากเป็นผู้จดทะเบียน VAT ส่วนนี้สามารถนำไปหักภาษีขายได้ แต่ถ้าไม่ได้จดทะเบียน VAT ก็จะเป็นเสมือนผู้บริโภค ซึ่งส่งผลให้ภาษีซื้อกลายเป็นต้นทุนของเรา ยกตัวอย่างเช่น การทำธุรกิจขายสินค้า เมื่อได้สินค้ามาในราคา 200 บาท (VAT 7%) = 214 บาท ซึ่ง 14 บาท นี้เองจะกลายเป็นภาษีซื้อทันที เมื่อไหร่ที่นำไปขายต่อเป็นจำนวนเงิน 400 บาท 400 + VAT 7% เราก็จะสามารถเก็บภาษีจากลูกค้าในราคา 428 บาทได้ (ภาษีขาย = 28 / ภาษีซื้อ = 14) เมื่อนำส่งสรรพากรในแต่ละเดือน จะเป็นการรวมยอดภาษีซื้อและภาษีขายที่ได้หักลบกัน 28 – 14 = 14 บาท (ส่วนต่างที่นำส่งสรรพากร)

ในกรณีที่ไม่ได้ทำการจด VAT ภาษีซื้อจะกลายเป็นต้นทุนทันที ยกตัวอย่างเช่น ซื้อสินค้าราคา 200 บาท (VAT 7%) = 214 บาท เท่ากับว่ามีต้นทุน 214 บาท เนื่องจาก 14 บาท ไม่สามารถนำไปเคลมภาษีซื้อหรือขอคืนได้ หลังจากนั้นเมื่อนำไปขายต่อในราคา 400 บาท จึงไม่สามารถบวกเพิ่มอีก 28 บาทได้ เพราะไม่มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ ดังนั้นจะเห็นว่า ต้นทุน 214 บาท ที่ขายต่อไปในราคา 400 บาท ส่งผลให้กำไรที่ได้น้อยกว่าการจด VAT นั่นเอง

สรุปได้ว่าการจด VAT จะมีข้อดีแตกต่างกันไป โดยส่วนใหญ่ผู้คนมักซื้อของในราคาที่ถูกกว่า นั่นคือสินค้าที่ไม่ผ่านการจด VAT ซึ่งก็ถือเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่ง ดังนั้นผู้ที่จด VAT จึงต้องศึกษาตลาดและตั้งราคาขายให้ดี เพราะการตั้งราคาสูงหรือบวกภาษีแล้วผลักภาระให้กับลูกค้า อาจส่งผลให้ขายสินค้าได้ยากขึ้น ดังนั้น ราคาการแข่งขันจึงเป็นอีกเรื่องที่สำคัญเช่นกัน ส่วนเรื่องของภาษีซื้อก็ยังสำคัญไม่น้อยกว่า ควรระวังเรื่องราคา ที่ถึงแม้การจด VAT นำมาใช้ได้ แต่อย่างไรก็ต้องมีหลักฐานครบถ้วน ได้แก่ ใบกำกับภาษีเต็มรูป รวมถึงการซื้อของหรือจ่ายค่าบริการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของเรา ไม่ใช่การนำภาษีซื้อมาใช้ได้ในทุก ๆ อย่าง ส่วนนี้จะสอดคล้องกับเรื่องของ “ภาษีต้องห้าม” นั่นเอง

หมายเหตุ : ภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อ เจ้าของธุรกิจต้องส่งภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยแบบภ.พ.30 ให้กรมสรรพากรภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป แต่กลับกัน หากภาษีซื้อมากกว่าภาษีขาย ผู้เป็นเจ้าของธุรกิจสามารถขอคืนภาษีเป็นเงินสดหรือเก็บเป็นเครดิตภาษีใช้เดือนถัดไป

คำนวณภาษี

ขั้นตอนการนำส่งภาษีซื้อและภาษีขาย

1.เตรียมเอกสารนำส่งภาษีซื้อ

  • ทำการรวบรวมใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบที่เกิดจากการซื้อสินค้า หรือใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ (ต้องไม่ใช่ภาษีต้องห้ามตามที่สรรพากรได้กำหนดไว้)
  • ทำรายงานภาษีซื้อ สำหรับใบกำกับภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้า หรือใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจในเดือนที่จัดทำ ภ.พ. 30 ทั้งหมด

2.เตรียมเอกสารนำส่งภาษีขาย

  • ทำการรวบรวมสำเนาใบกำกับภาษีที่ได้รับจากการขายสินค้าหรือบริการต่าง ๆ
  • ทำรายงานภาษีขายสำหรับใบกำกับภาษีที่มียอดจากการขายสินค้าและบริการต่าง ๆ จากธุรกิจของตน (เดือนที่ทำการออกใบกำกับภาษี) รวมไปถึงการจัดทำรายงานให้กับใบกำกับภาษีที่ถูกยกเลิก ใบเพิ่มหนี้ และใบลดหนี้ด้วย

 

ตัวอย่าง รายงานภาษีซื้อ ภาษีขาย

ตัวอย่างรายงานภาษีซื้อ ภาษีขายตามรูปแบบที่กรมสรรพากรกำหนด

 

ตัวอย่างเอกสารฟอร์ม ภ.พ.30

ตัวอย่างเอกสารฟอร์ม ภ.พ. 30
(ภาพจาก : SEMMOVE )

 

จากที่เคยมีความคิดว่าภาษีเป็นเรื่องที่ยาก เมื่ออ่านบทความข้างต้นนี้จบแล้ว ก็อาจเปลี่ยนมุมมองว่าแท้จริงแล้วก็ไม่ได้ซับซ้อนมากเท่าไหร่ เพียงต้องใช้เวลาทำความเข้าใจสักนิด เพราะในปัจจุบันการยื่นภาษีทั้งสะดวกและรวดเร็วกว่าอดีตมาก สามารถยื่นออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ E-Filing อ่านบทความอื่น ๆ เกี่ยวกับภาษีได้ที่ ใบ 50 ทวิ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

 

หมวดหมู่