หลายครอบครัวพบเจอกับปัญหาเรื่องทายาทของผู้ตายหรือทายาทของเจ้ามรดก ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีความเกี่ยวข้องกับประเด็นการแบ่งทรัพย์สินต่าง ๆ ของผู้ตาย บทความนี้ จึงพามาทำความรู้จักผู้จัดการมรดก ว่าคนในครอบครัวมีใครทำหน้าที่นี้เพื่อจัดสรรมรดกได้บ้าง แล้วการยื่นคำร้องต้องเตรียมเอกสารอะไร เช็กความพร้อมและเตรียมตัวก่อนร้องเป็นผู้จัดการทรัพย์
ผู้จัดการมรดกคือใคร
ก่อนแบ่งทรัพย์สิน ต้องทราบก่อนว่าใครคือผู้จัดการมรดก ใครเป็นผู้แต่งตั้งและทำหน้าที่อะไร หากอธิบายง่าย ๆ คือ บุคคลที่เป็นผู้จัดการ ผู้นำที่จัดการทุกอย่าง ผู้ที่มีหน้าที่แบ่งปันทรัพย์สินของผู้ตาย โดยหลักของกฎหมายต้องเป็นบุคคลที่มีคุณสมับัติที่จัดการมรดกได้ ซึ่งการจัดการมรดกตามมาตรา 1711 คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งระบุว่า ‘ผู้จัดการมรดก รวมทั้งบุคคลที่ตั้งขึ้นโดยพินัยกรรมหรือโดยคำสั่งศาล’ นั่นหมายความว่าสามารถแบ่งผู้จัดการมรดกได้อยู่ 2 หมวด ได้แก่
(1) ผู้จัดการมรดกที่เกิดจากการที่ผู้ตายได้แต่งตั้งไว้โดยพินัยกรรม มีระบุชัดที่บนพินัยกรรม เช่น คำที่เขียนบนพินัยกรรม ‘เมื่อข้าพเจ้าได้ถึงแก่ความตาย ขอแต่งตั้งให้…(ชื่อ) เป็นผู้จัดการมรดกของข้าพเจ้า’ เป็นต้น
(2) ทายาท ผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตามมาตรา 1713 ซึ่งหมวดนี้ประกอบด้วย 6 ลำดับทายาทโดยธรรม ได้แก่ (1) ผู้สืบสันดาน ลูก ที่มีสายเลือดเดียวกัน (2) บิดามารดา (3) พี่น้อง ร่วมบิดามารดาเดียวกัน (4) พี่น้อง ร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน (5) ปู่ย่า ตายาย (6) ลุง ป้า น้า อา ซึ่งทั้งหมด 6 ลำดับที่ได้กล่าวไปข้างต้นนี้มีหลักเกณฑ์การกระจายมรดกออกไป คือ หากมีลำดับที่ใกล้เริ่มจาก (1) ก็จะตัดลำดับที่เหลือออกไป
ซึ่งนอกจากนี้ มาตราดังกล่าวยังมีระบุในส่วนของเกณฑ์ที่ต้องแบ่งกรณีที่ผู้ตายมีคู่สมรส (สามีหรือภรรยา) หากเป็นสามี/ภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย ก็จะมีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตาย และสามารถยื่นคำร้องเป็นผู้จัดการมรดกได้เช่นเดียวกัน (ต้องมีการจดทะเบียนสมรส) เปรียบเสมือนลำดับชั้นที่ (1) ของทายาทโดยธรรม
ผู้มีส่วนได้เสีย หมายถึง ผู้ที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์มรดก เช่น ภรรยา/สามีที่ไม่จดทะเบียนสมรสและหรือบุคคลที่มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดก (ผู้บังคับจำนอง) สามารถร้องจัดการมรดกได้เช่นกัน และในกรณีที่อัยการเป็นผู้ยื่นคำร้องให้ ต้องใช้กับผู้ตายหรือเจ้ามรดกที่ไม่มีทายาทนั่นเอง
หมายเหตุ : ถึงแม้ว่าผ้จัดการมรดกจะถูกแต่งตั้งโดยพินัยกรรม ก็ยังจำเป็นต้องยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเป็นผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรม
ใครอยู่ในบทบาทต้องห้าม/ไม่สามารถร้องป็นผู้จัดการมรดกได้?
ตามประมาลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตามมาตรา 1718 ได้แก่
(1) ผู้ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ ยังไม่มีวุฒิภาวะในการตัดสินใจ รวมถึงการบริหารทรัพย์ที่ไม่ชอบ โดนหลอกลวงหรือโกงได้
(2) บุคคลวิกลจริต หรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดการล่อลวง หลอกซื้อหลอกขายได้
(3) บุคคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้ล้มละลาย คือ ผู้ที่ไม่มีทรัพย์สินหรือมีหนี้สินล้นตัวเกินกว่าหนี้ที่กฏหมายระบุไว้ ซึ่งผู้ที่ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ลักษณะนี้ ศาลจะให้ความเห็นว่า มีความเสี่ยงและโอกาสที่อาจทำให้เกิดการกระทำโดยขาดสติ ทุจริต และไม่น่าไว้วางใจ
ภรรยา/สามีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ไม่ได้จดทะเบียนสมรส) มีสิทธิได้รับมรดกหรือไม่?
หากมองตามหลักของกฎหมาย อย่างไรแล้วสามี/ภรรยา ที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสก็ถือว่าไม่มีสิทธิ แต่ยังสามารถร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกในบทบาทของ ‘ผู้มีส่วนได้เสีย’ ได้ แต่ต้องใช้เหตุผลอธิบายและมีหลักฐานที่มากเพียงพอให้ศาลตัดสิน เช่น ทำอาชีพอะไร อยู่กินร่วมกันมานานเท่าไหร่ แล้วยังต้องมีพยานบุคคลอื่น ยืนยันว่ามีการแต่งงานกัน (แต่ไม่สมรส) มีลูกหรือไม่
หากต้องการร้องจัดการมรดก สามารถทำได้ด้วยวิธีไหนบ้าง?
สามารถร้องจัดการมรดกได้ 2 ช่องทาง ได้แก่
1.ดำเนินเรื่องที่สำนักงานอัยการ โดยเตรียมเอกสารการตาย สำเนาทรัพย์สิน และข้อมูลต่าง ๆ ของเจ้ามรดกเพื่อให้อัยการร้องจัดการมรดกให้
2.แต่งตั้งทนายความเอง เพื่อให้ร้องจัดการมรดกให้
เอกสารสำคัญที่ต้องนำมายื่นร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก
1.สำเนารับรองการตายและสำเนาใบมรณบัตรของผู้ตายและของทายาททุกคนที่เสียชีวิตแล้ว
2.สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ตายหรือเจ้ามรดกที่เจ้าหน้าที่รับรอง ปรับว่า ‘ตายหรือเสียชีวิต’ แล้ว
3.สำเนาทะเบียนบ้าน และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก พร้อมเอกสารของทายาททุกคนที่ยังมีชีวิตอยู่
4.ทะเบียนสมรส หรือใบหย่าของสามี/ภรรยาของผู้ตาย
5.ใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อ-สกุล (กรณีเอกสารไม่ตรงกัน)
6.สูติบัตรของบุตรกรณียังไม่บรรลุนิติภาวะ
7.พินัยกรรมของผู้ตาย (ถ้ามี)
8.หนังสือให้ความยินยอมของทายาทที่เซ็นยินยอมต่อเจ้าหน้าที่
9.บัญชีเครือญาติทั้งหมด ซึ่งต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้องตามจริง
10.เอกสารเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ต้องจัดการ เช่น โฉนดที่ดิน สมุดเงินฝาก ทะเบียนรถ ฯลฯ
และไม่ว่าปัจจุบันครอบครัวของเราจะประสบปัญหาการจัดสรรมรดกอยู่หรือไม่ แต่การได้ทราบ ได้เข้าใจถึงบทบาทและหน้าที่การร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกให้ถูกต้องตามกฎหมาย ก็เป็นข้อมูลสำคัญที่ช่วยลดการถกเถียงกันระหว่างเครือญาติได้ แต่สิ่งที่ควรทำเมื่อเจอเหตุการณ์ในลักษณะแย่งชิงทรัพย์สิน นั่นคือการพูดคุย ซึ่งไม่ใช่ใครก็ได้ที่อยากแต่งตั้งตัวเองก็เป็นผู้จัดแบ่งมรดกได้ ดังนั้น เมื่อทราบกันแล้ว อย่าลืมเก็บเอกสารสำคัญของคนในครอบครัวให้ดี พูดคุยกันให้มาก และทางที่ดีที่สุดควรทำพินัยกรรมเพื่อป้องกันการทะเลาะกันของคนที่ยังอยู่นั่นเอง