กรณีไม่มีการทำพินัยกรรม ทายาทโดยธรรมและคู่สมรส ใครมีสิทธิได้รับมรดกบ้าง ?
ปัญหาเดิม ๆ ที่มักจะมีให้เห็นกันได้เสมอเมื่อเจ้ามรกดเสียชีวิตโดยที่ยังไม่ได้ทำพินัยกรรม นั่นก็คือ ความขัดแย้งระหว่างทายาทโดยธรรมและคู่สมรสในเรื่องการแบ่งมรดกว่าใครควรจะมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในมรดกมากหรือน้อยเท่าไหร่ ดังนั้น หากทุกคนได้รับรู้และเข้าใจถึงสิทธิการรับมรดกตามกฎหมายแล้ว ก็จะช่วยลดปัญหาความแคลงใจกันระหว่างสมาชิกในครอบครัวได้มากอีกด้วย สาระอสังหา จึงนำข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการแบ่งมรดกตามกฎหมายของทายาทโดยธรรม 6 ลำดับ และคู่สมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้
สิทธิการรับมรดกของทายาทโดยชอบธรรม
ทายาทโดยธรรมตามกฎหมายได้แก่ ญาติและคู่สมรส (สามีและภริยาของเจ้ามรดก) ซึ่งกฎหมายก็ได้มีเกณฑ์การจัดลำดับการรับมรดกของญาติไว้ คือ การให้ญาติสนิทที่สุดมีสิทธิได้รับมรดกเหนือกว่าญาติที่ห่างออกไป หากญาติที่สนิทที่สุดยังมีชีวิตอยู่ ญาติที่สนิทน้อยลงไปจะไม่มีสิทธิได้รับมรดกเลย สำหรับลำดับญาตินั้น กฎหมายได้กำหนดไว้เรียงลำดับตามความสนิท ดังนี้
ทายาทโดยธรรม 6 ลำดับ ผู้มีสิทธิรับมรดก มีใครบ้าง?
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 บัญญัติให้ทายาทโดยธรรมมี 6 ลำดับ คือ
- ลำดับที่ ๑ ผู้สืบสันดาน ได้แก่ บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายและบุตรนอกกฎหมายของเจ้ามรดก
- ลำดับที่ ๒ บิดามารดา ต้องเป็นบิดาและมารดาที่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกเท่านั้น
- ลำดับที่ ๓ พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
- ลำดับที่ ๔ พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
- ลำดับที่ ๕ ปู่ ย่า ตา ยาย
- ลำดับที่ ๖ ลุง ป้า น้า อา
การแบ่งมรดกระหว่างทายาทโดยธรรม กรณีที่เจ้ามรดกมีคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่
คู่สมรสของเจ้ามรดก หมายถึง สามีหรือภรรยาที่ได้มีการจดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น หากคู่สมรสยังมีชีวิตอยู่ ก็ถือเป็นทายาทโดยชอบธรรมภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635 ดังนั้น ลำดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสในการรับมรดกของเจ้ามรดกนั้น ให้เป็นไปดังต่อไปนี้
1. หากทายาทลำดับที่ ๑ ยังมีชีวิตอยู่ คู่สมรสมีสิทธิได้ส่วนแบ่งมรดกเช่นเดียวกับผู้สืบสันดาน
2. หากไม่มีทายาทลำดับที่ ๑ แต่มีทายาทลำดับที่ ๒ (พ่อแม่) จะมีการแบ่งมรดกให้ทั้งพ่อแม่และคู่สมรสอย่างละเท่า ๆ กัน กล่าวคือ ให้พ่อแม่จำนวน 50 % และแบ่งมรดกให้คู่สมรสจำนวน 50%
3. หากมีทายาทตามลำดับที่ ๓ จะใช้หลักเกณฑ์เดียวกับกรณีที่มีทายาทลำดับที่ ๒ คือ การแบ่งมรดกให้พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกันจำนวน 50% และแบ่งมรดกให้คู่สมรสจำนวน 50 %
4. กรณีไม่มีทายาทลำดับที่ ๑, ๒ และ ๓ หรือมีทายาทตั้งแต่ลำดับที่ ๔ ลงไป คู่สมรสมีสิทธิ์ได้รับมรดกก่อนจำนวณ 2 ใน 3 คิดเป็น 66.67% ของจำนวนมรดกทั้งหมด
5. หากไม่มีทายาทดังที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 และคู่สมรสยังมีชีวิตอยู่นั้น คู่สมรสจะมีสิทธิได้รับมรดกทั้งหมดของเจ้ามรดกทันที
สุดท้ายนี้ หากได้ลองพิจารณาตามหลักความเป็นจริงแล้วนั้น จะเห็นได้ว่าทรัพย์สินของเจ้ามรดกไม่ได้มีวงเงินเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีสินทรัพย์อื่น ๆ อีกมาก จึงเป็นเรื่องยากที่คนในครอบครัวจะสามารถจัดแบ่งสิทธิการรับมรดกกันเองได้ เนื่องจากผู้คนมีความคิด ความต้องการที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งความไม่เข้าใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็อาจนำไปสู่สถานการณ์ความขัดแย้งภายในครอบครัวได้เช่นกัน ดังนั้น วิธีการจัดการทรัพย์สินภายในครอบครัวที่ง่ายที่สุดเลยก็คือ การทำ พินัยกรรม และเมื่อไหร่ที่เจ้ามรดกได้กำหนดบุคคลผู้มีสิทธิได้รับมรดกตามพินัยกรรมแล้วก็จะเป็นการลดปัญหาการถกเถียงกันระหว่างทายาท อีกทั้งยังช่วยให้มรดกไม่ตกไปสู่ผู้ที่เจ้ามรดกไม่ต้องการให้อีกด้วย