top

กฎหมาย

กฎหมาย ทะเบียนพาณิชย์คืออะไร ค้า-ขายประเภทไหนที่ต้องจดทะเบียนบ้าง
ใครมีหน้าที่จดทะเบียนพาณิชย์ ทำแล้วมีข้อดี หรือไม่ทำมีข้อเสียอย่างไร

เมื่อไหร่ที่เราเป็นผู้ทำธุรกิจ ก็จะเข้าใจได้ว่าการสร้างแบรนด์ของตัวเองให้มีความน่าเชื่อถือในสายตาผู้บริโภคนั้นเป็นเรื่องที่ดี เพราะนอกจากสร้างความมั่นใจว่าจะได้รับสินค้าจริง แล้วยังสบายใจได้ว่าร้านค้ามีอยู่จริง ลูกค้าเองสามารถรับ เปลี่ยน หรือคืนสินค้าได้ สาระอสังหา แชร์ธุรกิจที่ต้องจดทะเบียนการค้าให้ถูกต้องถามกฎหมาย เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานให้นักธุรกิจมือใหม่หรือใครที่ต้องการจดทะเบียนพาณิชย์ให้ทราบถึงข้อกำหนดต่าง ๆ เอกสาร ค่าธรรมเนียมในการยื่นคำร้อง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายก็เป็นเรื่องที่ดีทั้งต่อตัวเราและลูกค้า ง่ายต่อการเก็บสถิติและตรวจสอบการจ่ายภาษีของภาครัฐอีกด้วย

ธุรกิจประเภทใดที่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ และธุรกิจใดที่ไม่จำเป็นต้องจดทะเบียน

ทะเบียนพาณิชย์หรือทะเบียนการค้า คือ หนังสือรับรองที่ทางหน่วยงานราชการออกให้ ซึ่งกำหนดให้กิจการที่จำเป็นต้องจดทะเบียนพาณิชย์ตามพ.ร.บ.ทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. 2499 (มาตรา 6) มีดังต่อไปนี้

(1) การซื้อ การขาย การขายทอดตลาด การเปลี่ยน
(2) การให้เช่า การให้เช่าซื้อ
(3) การเป็นนายหน้าที่ดินหรือตัวแทนค้าต่าง
(4) การขนส่ง
(5) การหัตถกรรม การอุตสาหกรรม
(6) การรับจ้างทำของ
(7) การให้กู้ยืมเงิน การรับจำนำ การรับจำนอง
(8) การคลังสินค้า
(9) การรับแลกเปลี่ยนหรือซื้อ-ขายเงินตราต่างประเทศ การซื้อ-ขายตั๋วเงิน การธนาคาร การเครดิตฟองชิเอร์ การโพยก๊วน
(10) การรับประกันภัย
(11) กิจการอื่นซึ่งกำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา

ส่วนธุรกิจที่ไม่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ (มาตรา7) มีดังต่อไปนี้

(1) การค้าเร่ การค้าแผงลอย
(2) พาณิชย์เพื่อการบำรุงศาสนาหรือเพื่อการกุศล
(3) พาณิชยกิจของนิติบุคคลซึ่งได้มีพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งขึ้น
(4) พาณิชยกิจของกระทรวง ทบวง กรม
(5) พาณิชยกิจของมูลนิธิ สมาคม สหกรณ์
(6) พาณิชยกิจซึ่งรัฐมนตรีได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ใครคือผู้ที่มีหน้าที่จดทะเบียนพาณิชย์

1.บุคคลธรรมดาที่ทำกิจการเป็นเจ้าของคนเดียว
2.ห้างหุ้นส่วนสามัญ
3.นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ (ที่มาตั้งสำนักงานในประเทศไทย)
4.ห้างหุ้นส่วนจำกัด
5.บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชน
หมายเหตุ : เมื่อเริ่มเปิดกิจการแล้วต้องจดทะเบียนภายใน 30 วัน นับแต่วันเริ่มกิจการ

เอกสาร ค่าธรรมเนียม และสถานที่ขอจดทะเบียนการค้า

1.แบบคำขอจดทะเบียนพาณิชย์ (แบบทพ.)
2.สำเนาบัตรประชาชน
3.สำเนาทะเบียนบ้าน
4.แผนที่ตั้งร้าน
5.ภาพถ่ายร้านค้า
6.หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี)
7.หนังสือยินยอมใช้สถานที่ประกอบกิจการ (สัญญาเช่า)
หมายเหตุ : ค่าธรรมเนียม 50 บาท

สถานที่ยื่นจดทะเบียน

  • กทม. ยื่นที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลังกรุงเทพมหานครหรือสำนักงานเขตทุกสาขา
  • ต่างจังหวัด ยื่นที่เทศบาล หรืออบต.

เมื่อดำเนินการจดทะเบียนเสร็จเรียบร้อยแล้ว สามารถนำทะเบียนพาณิชย์ที่ได้รับแสดงในสถานประกอบการบริเวณที่เห็นได้ชัดเจน ให้ผู้ใช้บริการเห็นและมั่นใจในกิจการของเรา แต่สำหรับผู้ที่ทำธุรกิจออนไลน์นั้น ก็ต้องจดทะเบียนเช่นกัน แต่จะเป็นในกรณี “การจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์” มีขั้นตอนการยื่นขอจดทะเบียนแบบปกติ เพียงแต่ต้องให้รายละเอียดเว็บไซต์เพิ่มเท่านั้น ซึ่งหลังจากที่จดทะเบียนเรียบร้อยแล้ว จะได้รับเลขทะเบียนและเครื่องหมาย DBD Registered เพื่อนำมาแสดงบนพื้นที่ออนไลน์ของร้านค้า เพิ่มความน่าเชื่อถือให้กิจการได้นั่งเอง

 

ตัวอย่างแบบฟอร์มคำขอจดทะเบียนพาณิชย์ (แบบ ทพ.)

ตัวอย่างแบบฟอร์มคำขอจดทะเบียนพาณิชย์

ดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ที่ : จดทะเบียนตั้งใหม่

ข้อดีของการมีทะเบียนพาณิชย์

กฎหมายกำหนดโทษตามมาตรา 19 หากไม่จดทะเบียน ไม่แสดงรายการข้อเท็จจริง หรือไม่มาให้นายทะเบียนสอบสวน-ตรวจสอบ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท และในกรณีข้อ (1) ซึ่งเป็นความผิดต่อเนื่อง ให้ปรับวันละไม่เกิน 100 บาท จนกว่าจะปฏิบัติตามพระราชบัญญัติอย่างถูกต้อง

 

จากเนื้อหาข้างต้นที่ได้ทราบกันไปถึงความสำคัญของการจดทะเบียนพาณิชย์แล้ว ดังนั้น เมื่อมีโอกาสได้เปิดธุรกิจหรือมีกิจการเป็นของตัวเองไม่ว่าจะเป็นรูปแบบออนไลน์หรือออฟไลน์ ก็ควรปฎิบัติให้ถูกต้องตามที่กฎหมายได้บังคับไว้ เพราะนอกจากค่าธรรมเนียมจะถูก แล้วยังใช้เอกสารที่เราสามารถจัดเตรียมได้เองและไม่ยุ่งยาก เพียงสละเวลาดำเนินเรื่องให้ถูกต้องก็ส่งผลดีต่อกิจการในระยะยาวได้

 

 

About author

เป็นนักการตลาดออนไลน์ เสพติดข่าวสาร กฎหมาย สังคม เศรษฐกิจโลกและแวดวงอสังหาฯ เชื่อว่าเรื่องราวที่ได้รู้มีบทเรียนชีวิตแฝงอยู่ให้เราเสมอ

หมวดหมู่