ในยุคสมัยที่การหารายได้ไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน ส่งผลให้วัยรุ่นส่วนมากสร้างรายได้ให้กับตัวเองตั้งแต่อายุยังน้อย และด้วยเหตุผลนี้เอง จึงมีคำถามเกิดขึ้นว่าอายุเท่านี้ สามารถทำ พินัยกรรม ได้ไหม แน่นอนว่าการวางแผนทำพินัยกรรมหรือการวางแผนมรดก เป็นเรื่องใกล้ตัวมาก ๆ เพราะเราไม่มีทางทราบว่าจะใช้ชีวิตได้ถึงเมื่อไร ดังนั้น เราก็ควรให้ความสำคัญกับ การวางแผนพินัยกรรม เพื่อแจ้งจุดประสงค์ว่าต้องการมอบให้ใคร ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นสิทธิของตัวเราเองที่จะเลือกมอบมรดกให้กับผู้ที่ต้องการให้รับจริง ๆ บทความน่ารู้วันนี้ สาระอสังหา นำเนื้อหาที่อธิบายถึงความหมายและ เงื่อนไขของพินัยกรรม มาสร้างความเข้าใจให้ทุกคน
นิยามความหมาย ‘พินัยกรรม’
พินัยกรรม คือ เอกสารที่เจ้าของทรัพย์สินเขียนแสดงเจตนารมณ์เผื่อตายในเรื่องการจัดสรรทรัพย์สินของตัวเอง สามารถบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายเพื่อถ่ายทอดให้แก่ทายาท โดยมีจุดประสงค์ที่จะลดความขัดแย้งของเครือญาติ หรือผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ มักเรียกกันทั่วไปว่า ‘การแย่งชิงมรดก’
นิยามความหมาย ‘มรดก’
เมื่อได้ทราบความหมายของพินัยกรรมแล้ว ก็ต้องเข้าในใจความหมายของมรดกหรือทรัพย์สินที่ต้องการมอบให้กับผู้รับมรดกบ้าง ซึ่งมรดกจะหมายถึง ทรัพย์สิน สิทธิและหน้าที่ความรับผิดชอบ เช่น บ้าน รถยนต์ คอนโดฯ ที่อยู่อาศัย เงินสด อสังหา หุ้น พันธบัตร เครื่องประดับ พระเครื่อง ทรัพย์สินทางปัญญา หนี้ต่าง ๆ ของเจ้ามรดก เป็นต้น
ใครสามารถทำพินัยกรรมได้บ้าง?
ผู้ที่สามารถทำพินัยกรรมได้ คือ ผู้ที่มีความพร้อมถ่ายโอนทรัพย์สินส่วนตัวให้กับบุคคลอื่น และต้องมีสติครบถ้วนเพื่อแสดงเจตนารมณ์ว่าต้องการแบ่งทรัพย์สินชิ้นไหนให้กับใคร ซึ่งต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนทั้งสองประการ ดังนี้
(1) มีอายุครบ 15 ขึ้นไป
(2) ไม่ได้เป็นผู้ที่ศาลออกคำสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ โดยกฎหมายกำหนดรูปแบบพินัยกรรมไว้ 5 แบบ ดังนี้
- พินัยกรรมแบบธรรมดา คือ การพิมพ์ข้อความลงในกระดาษ ลงวัน/เดือน/ปี และต้องมีพยานอย่าน้อย 2 คนเซ็นลายมือรับรองการทำพินัยกรรมครั้งนี้ด้วย
- พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ คือ การเขียนพินัยกรรมด้วยลายมีทั้งหมด พร้อมลงวัน/เดือน/ปี และลงลายมือชื่อผู้ทำ ซึ่งจะมีพยานหรือไม่ก็ได้
- พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง คือ การทำพินัยกรรมที่ผู้ทำต้องแจ้งความประสงค์ต่อเจ้าหน้าพนักงานรัฐที่เขตหรืออำเภอ พร้อมกับพยานอีก 2 คน หลังจากนั้นจะมีการทวนความถูกต้องของเนื้อหา เมื่อครบถ้วนแล้วผู้ทำพินัยกรรม พยาน และเจ้าหน้าที่จะทำการลงลายมือชื่อพร้อมกับประทันตรา ระบุวัน/เดือน/ปีอย่างชัดเจน
- พินัยกรรมแบบเอกสารลับ คือ การทำพินัยกรรมแบบปิดผนึก และนำไปที่อำเภอหรือเขต พร้อมพยาน 2 คน ยืนยันว่าเป็นพินัยกรรมของผู้ทำจริง หลังจากนั้นจะมีการลงลายมือชื่อของผู้ทำ พยาน และเจ้าหน้าที่พนักงาน ระบุวัน/เดือน/ปีที่ปิดผนึกอย่างชัดเจน
- พินัยกรรมแบบทำด้วยวาจา คือ พินัยกรรมสำหรับผู้ที่ไม่สามารถทำลักษณะอื่น ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นได้ เช่น กรณีเจ็บป่วยอยู่ ต้องมีการแสดงเจตนาต่อหน้าพยาน 2 คน พร้อมพยานเซ็นลายมือชื่อร่วมกับเจ้าหน้าที่พนักงาน ระบุวัน/เดือน/ปี สถานที่ทำพินัยกรรมอย่างชัดเจน
ตัวอย่างแบบฟอร์มพินัยกรรมแบบธรรมดา
หมายเหตุ : ผู้จัดการมรดก คือ บุคคลที่ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการเรื่องมรดก มีหน้าที่รวบรวมเอกสาร ทำบัญชีต่าง ๆ รวมถึงการแบ่งทรัพย์สินที่ซึ่งเป็นมรดกของผู้เสียชีวิตให้กับทายาทที่มีสิทธิได้รับมรดกตามกฎหมายหรือ ทายาทโดยธรรม
ภาพจาก : องค์การบริหารตำบลไร่โคก
จากข้อมูลข้างต้นนี้ ก็คงจะคลายข้อสงสัยให้ใครหลายคนได้บ้างแล้ว ทั้งในเรื่องความหมายของ พินัยกรรม รวมถึงชนิดของทรัพย์สินที่เป็นมรดกได้ เพียงอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์เมื่อไหร่ก็สามารถวางแผนแบ่งมรดกหรือดำเนินเรื่องทำพินัยกรรมได้แล้ว สาระอสังหา สนับสนุนการทำพินัยกรรมเมื่อพร้อม เพราะนอกจากตัวเราจะสามารถใช้สิทธิแบ่งมรดกเจาะจงเฉพาะผู้ที่ต้องการแบ่งให้แล้ว ยังเป็นการระบุเจตนารมณ์เผื่อตายที่ลดความแคลงใจระหว่างเครือญาติได้ ซึ่งถ้าหากไม่ได้วางแผนพินัยกรรมไว้ก่อนเสียชีวิต สิทธิรับมรดกจะตกเป็นของทายาทโดยธรรมทั้ง 6 ลำดับทันที